การฝึกสมาธิ ให้ประสบผลสำเร็จ

การฝึกสมาธิ

การฝึกสมาธิ จากการรวบรวมข้อมูลจากผู้ฝึกหลายสำนักทั้งผู้เริ่มฝึกใหม่ และผู้ที่เคยฝึก มาระดับหนึ่งแล้ว รวมทั้งจากประสบการณ์ของตนเอง พอจะสรุปได้ดังนี้

1. #การนั่งสมาธิ สำหรับคนที่ยังไม่เคยได้รับการฝึกมาก่อนเลย ควรเริ่มจาก นั่งสมาธิ 5 นาที ก่อนประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้น แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นครั้งละ 5 นาที ในเดือนที่ 2 และเพิ่มเป็น 10 นาทีในเดือนที่ 3 ซึ่งแต่ละท่าน อาจจะมีความพร้อม ในเรื่องเวลาที่ไม่เหมือนกัน การนั่งสมาธิของแต่ละท่าน ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่แตกต่างกันไป ไม่เหมือนกัน

ปัจจัยสำคัญในการนั่งสมาธิ จะขอแยกออกเป็น 5 ประการดังนี้

1.1 กำลังกาย หมายถึง สุขภาพร่างกายที่แข็งแรงที่เหมาะสม และมีความพร้อมในการนั่งขัดสมาธิ ผู้อาวุโสบางท่านไม่พร้อมในเรื่องนี้ ก็ต้องนั่งเก้าอี้ที่มีพนักพิง

1.2 กำลังปัญญา หมายถึง ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการนั่งสมาธิ และเข้าใจว่า #การนั่งสมาธิ มีประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติอย่างไร ผู้เริ่มฝึกครั้งแรกควรจะได้ศึกษาเรื่องนี้ ให้เข้าใจก่อนที่จะเริ่มฝึกด้วยตนเอง เพื่อให้ผู้ปฏิบัติจะได้เห็นความสำคัญในการนั่งสมาธิ จึงจะก่อให้เกิดกำลังใจในการ #นั่งสมาธิ

1.3 กำลังใจ หมายถึง ความตั้งใจ และมุ่งมั่น ในการที่อยากจะนั่งสมาธิด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่มีใครมาบังคับ แต่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับตนเองในการนั่งสมาธิ

1.4 สภาพแวดล้อม หมายถึง สถานที่ที่เหมาะสม คือสงบเงียบร่มรื่น ร่มเย็น และสบาย อากาศ ถ่ายเทสะดวก ถ้าฝึกด้วยตนเองที่บ้านควรเป็นห้องพระ หรือห้องนอน ที่มีอากาศถ่ายเทดี และเย็นสบาย หรือสถานที่ที่เหมาะสมตามความชอบของบุคคลนั้น

1.5 การจัดสรรเวลา หมายถึง เวลาที่เหมาะสมในการนั่งสมาธิของแต่ละท่าน ก็จะแตกต่างกันตามกำลังกาย กำลังปัญญาที่มีความรู้ความเข้าใจ กำลังใจ และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
การจัดสรรเวลาในการนั่งสมาธิ จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะบุคคลท่านนั้นมีความสมัครใจ เต็มใจ
เข้าใจหลักการนั่งสมาธิที่ถูกต้อง และเห็น #ประโยชน์ของการนั่งสมาธิ ที่ชัดเจนแล้วก็จะจัดสรรเวลาในการนั่งสมาธิ ให้กับตนเองได้ตามความเหมาะสม ว่าควรจะนั่งเวลาไหน และใช้เวลานานเท่าไรในการนั่งแต่ละครั้ง

การเริ่มต้นด้วยตนเอง จะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อ บุคคลนั้นได้เริ่มฝึก จาก #สำนักปฏิบัติธรรม ที่ตนเองสนใจก่อน เพื่อเรียนรู้หลักการ และ #วิธีการนั่งสมาธิที่ถูกต้อง ตามขั้นตอน การฝึกสมาธิ ในสำนักที่แต่ละท่านสนใจ โดยมีผู้ฝึกสอนการนั่งสมาธิที่ถูกต้อง เรียนรู้ให้เข้าใจจนเกิดกำลังใจ ที่จะสามารถนั่งสมาธิด้วยตนเองได้ จึงเริ่มฝึกด้วยตนเองที่บ้านด้วยการปฏิบัติดังนี้

ก. หาที่นั่งที่สงบสบายไม่มีคนวุ่นวาย เริ่มด้วยการทำร่างกายให้สะอาดและสบาย สดชื่น เย็นสบาย

ข. ทำใจให้ว่าง ๆ นิ่งๆ สบายๆ นึกถึงความดีที่ทำมา หรือนึกถึงบุญที่ทำมาแล้วปลื้ม มีความสุข สบายใจ หรือนึกถึงภาพหรือบรรยากาศในการทำความดีนั้นๆ

ค. เมื่อใจเริ่มสบายแล้ว ก็เริ่มบริกรรมภาวนา ตามที่แต่ละท่านได้เรียนรู้มาจากสำนักปฏิบัติธรรมของแต่ละท่าน โดยใช้คำภาวนา เช่น “พุทโธ , สัมมาอะระหัง, นะมะพะทะ หรือยุบหนอพองหนอ” แล้วแต่ถนัด

ง. ใจจะจดจ่ออยู่กับคำภาวนาไปเรื่อยๆ จนถึงระยะหนึ่งจะเริ่มรู้สึกไม่อยากภาวนา อยากนิ่งๆ เฉยๆ ก็ปล่อยให้นิ่งๆ ไปเรื่อยๆ

จากประสบการณ์ของตนเองหรือผู้ที่เคยมีประสบการณ์ ในการนั่งสมาธิมาแล้วระยะหนึ่ง ควรเริ่มต้นที่ 30 นาที เพราะขั้นตอนที่ 2 – 3 จะใช้เวลาพอสมควร สำหรับผู้ที่มีความปลื้มในการทำความดี และนึกทบทวนบุญ ก็จะมีความสุข สบายใจและอาจจะนั่งเพลินไปเลยก็ได้

2. การนั่งสมาธิเวลาที่สะดวก และเหมาะสมของแต่ละท่าน จะไม่เท่ากัน และไม่เหมือนกัน ทุกเวลาสามารถทำสมาธิได้ตลอด ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด แต่จากการสอบถาม ผู้ที่เคยปฏิบัติสมาธิมาระยะหนึ่ง และจากประสบการณ์ของตนเองจะพบว่า คนส่วนใหญ่ที่เคยฝึกสมาธิมาระยะหนึ่งแล้วมักจะชอบนั่งสมาธิในช่วงเช้ามืด คือ ระหว่างเวลาประมาณ 04.00 น. ถึง 06.00 ถือเป็นเวลาที่เหมาะสมในช่วงเช้า แล้วแต่ความเหมาะสม ของแต่ละท่านจะเลือกช่วงไหน เวลาเท่าไร และอีกช่วงเวลาที่เหมาะสมในการนั่งสมาธิสำหรับผู้ที่ชอบนั่งหลายรอบคือ ช่วงเวลาก่อนนอนระหว่างเวลาประมาณ 19.00 – 22.00 น. ช่วงนี้เป็นดูจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด สำหรับผู้ที่เริ่มฝึกใหม่ แต่จะเลือกช่วงเวลาไหนนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละท่านเห็นเหมาะสมที่สุดของตนเอง เพราะช่วงนี้เป็นช่วงการชำระกาย และชำระใจให้กับผู้ปฏิบัติสมาธิเอง หลังจากชำระร่างกายให้สะอาดสดชื่นแล้ว ก็มาชำระใจ ด้วย การทำสมาธิก่อนนอน เพราะช่วงนี้จะทำให้ผู้ฝึกสมาธิเองเห็นผลด้วยตนเองได้เร็วขึ้น เนื่องจากจะช่วยผ่อนคลายความเครียด ที่เหนื่อยล้าจากงานมาทั้งวัน จะทำให้นอนหลับสบาย ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ฝึกสมาธิเอง รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงที่ได้รับจากนั่งสมาธิ จะเห็นประโยชน์ของการนั่งสมาธิได้เร็วขึ้นด้วยตนเอง เพราะอย่างน้อยก็ทำให้รู้สึกสบายใจก่อนนอน คลายเครียด

3. สำหรับผู้ที่เคยฝึกมาระดับหนึ่งแล้ว ควรนั่งสมาธิประมาณ 30 นาที ขึ้นไป จึงจะเริ่มเห็นผลว่า ใจเริ่มนิ่ง และเริ่มรู้สึกสงบสบาย ใจโล่งโปร่งเบาสบาย ทำให้อยากนั่งต่อ จากประสบการณ์เมื่อได้ฝึกมาระดับหนึ่งแล้ว การนั่งแรกๆ จะเกิดการฟุ้ง คิดมากสารพัดเรื่องราว แต่ก็สามารถที่จะดึงจิตกลับมาได้เร็ว จะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 30 นาที เวลาการนั่งของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน

คนที่ไม่ประสบความสำเร็จในการนั่งสมาธิ หรือ #อุปสรรคในการนั่งสมาธิ ซึ่งอาจเป็นเพราะสาเหตุดังต่อไปนี้

3.1 จิตไม่สงบฟุ้งซ่านเพราะมีเรื่องราวที่ต้องคิดมากมาย
3.2 สุขภาพไม่แข็งแรง ปวดกระดูก ปวดหัวเข่า ปวดตัว ปวดเมื่อย
3.3 ไม่มีความอดทน
3.4 ไม่มีความตั้งใจจริงในการนั่งสมาธิ
3.5 ง่วงนอน
3.6 ไม่มีความรู้ความเข้าใจหลักการนั่งสมาธิที่ถูกต้อง
3.7 ไม่เข้าใจและไม่เห็นประโยชน์ในการนั่งสมาธิอย่างแท้จริง

แนะนำ 5 วิธี เอาชนะใจตนเองให้นั่งสมาธิ คลิ๊กที่นี่

ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการนั่งสมาธิระดับหนึ่ง คือ นั่งแล้วใจนิ่งสงบสบาย ผ่อนคลาย โปร่งโล่ง เบาสบาย สบายกาย สบายใจ

4. การนั่งสมาธิของคนต่างศาสนา หรือคนที่ไม่สนใจเรื่องศาสนา คงไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรม แต่คงจะถือว่า เป็น #การฝึกจิต หรือ #การพัฒนาจิต ให้เข้มแข็งมีพลังมากกว่า เพราะการนั่งสมาธิจะมีผลข้างเคียง ตามมาทำให้ใจมีพลังหนักแน่นมั่นคง มีความละเอียดรอบคอบในการคิด พูด ทำ มีสติ มีเหตุผลมากขึ้น และที่สำคัญช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด จากหน้าที่การงาน ได้ระดับหนึ่ง #การทำสมาธิสามารถช่วยรักษาโรค ได้อีกด้วย เพราะการนั่งสมาธิจะทำให้ร่างกายได้รับอ๊อกซิเจนเพิ่มมากขึ้น ในขณะนั่งสมาธิด้วย ร่างกายที่ได้รับอ๊อกซิเจนเพิ่มมากขึ้น จะไปช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลมะเร็ง* ได้ระดับหนึ่งด้วย การทำสมาธิเป็นการสร้างสุขภายในใจ นั่นคือ ความสุขจากสมาธิ ทำให้สมองปลอดโปร่ง ส่งผลทำให้มีสุขภาพดีในเวลาต่อมา

5. สถานที่ที่เหมาะสมในการฝึกสมาธิ ในครั้งแรกของผู้ฝึกใหม่ ควรเน้นเรื่องบรรยากาศที่เงียบสงบ เย็นสบาย อากาศดีสดชื่น เมื่อรู้หลักการ และวิธีการทำสมาธิที่ถูกต้องชัดเจน มีความเข้าใจ และเห็น #ประโยชน์ของการนั่งสมาธิ ที่ถูกต้องแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปตามสถานที่ปฏิบัติธรรม นั่งที่บ้านก็ได้ในเวลาที่สะดวก และเหมาะสมของแต่ละท่าน

บทความ โดย แก้วนิรันดร์

มีบทความที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมจาก Blockdit เรื่องเล่าจากร่างกาย อธิบายเรื่อง

การฝึกสมาธิดีต่อสุขภาพและสมองยังไงบ้าง?

เราจึงขอนำบทความนี้มาให้อ่านเพิ่มเติมกันนะคะ

1. ลดความเครียด เป็นสิ่งที่รู้กันดีที่สุด และมีคนนำมาใช้ประโยชน์มากที่สุด ปกติเมื่อมีความเครียดทางจิตใจ ทำให้เกิดความเครียดทางร่างกายและฮอร์โมน คอร์ติซอลเพิ่มขึ้น ตามมาด้วยการหลั่งของสารเคมีที่จะเพิ่มการอักเสบให้กับร่างกายหลายชนิดที่เรียกว่า ไซโตคายน์ (cytokines) ผลโดยรวมของสารเคมีนี้ต่อ สมองจะทำให้รู้สึกเครียด เศร้า กังวล นอนไม่ดี ความดันเลือดสูงขึ้น รู้สึกอ่อนเพลีย คิดอะไรไม่ค่อยออก อาการเหล่านี้ก็จะยิ่งทำให้ความเครียดทางจิตใจเพิ่มขึ้นอีก วนเป็นลูปไปเรื่อยๆ วิธีตัดวัฏจักรอันเลวร้ายนี้ที่ได้ผลดีที่สุด วิธีหนึ่งคือ การฝึกจิต หรือ นั่งสมาธิ

2. อาการปวด อาการ ลำไส้แปรปรวนดีขึ้น อันนี้เป็นผลจากข้อ 1 นั่นคือ ภาวะผิดปกติทางร่างกายหลาย ๆ อย่างที่เกิดจากความเครียดทางจิตใจก็จะดีตามไปด้วย เช่น ภาวะ irritable bowel syndrome หรือลำไส้แปรปรวน ท้องเสีย ท้องผูก เวลาเครียด หรือ ภาวะปวดเรื้อรังตามคอ ไหล่ บ่า หลัง ที่เรียกว่า fibromyalgia ก็จะดีขึ้นได้

3. ในคนที่มีภาวะกังวลง่าย หรือ anxiety อยู่แล้ว อาการก็จะดีขึ้นได้

4. เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อชีวิต ถ้าคุณเป็นคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับทัศนคิตที่มีต่อชีวิตตัวเอง คือ รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง รู้สึกชีวิตไม่ดี ไม่มั่นใจ พบว่าการฝึกจิตหรือนั่งสมาธิเป็นประจำ ทำให้มุมมองที่มีต่อตัวเอง ต่อสิ่งต่างๆ หรือต่อเหตุการณ์ต่างๆรอบตัวดีขึ้นได้ด้วย ซึ่งประโยชน์ในส่วนนี้จะมีประโยชน์ต่อคนที่ค่อนข้างซึมเศร้าง่ายเป็นพิเศษ

5. การฝึกสติให้สามารถตามความคิดของเราได้ทัน ตามรับรู้อารมณ์ของเราให้ทัน หรือพูดง่าย ๆ ว่าคิดอะไร มีอารมณ์อะไร ก็ตามไปรับรู้ได้รวดเร็ว มันจะมีผลให้เรารู้จักตัวเอง หรือมีสิ่งที่เรียกว่า self-awareness มากขึ้น คือ เราจะรู้ว่าเราต้องการอะไร ชอบอะไร มีนิสัยยังไง อารมณ์เราเป็นยังไง ซึ่ง self-awareness โดยทั่วไปถือว่าเป็นบันไดขั้นแรกของการพัฒนาตัวเองในด้านต่างๆ เพราะก่อนจะพัฒนาตัวเอง เราต้องรู้จักตัวเองให้ดีก่อน เราจึงจะรู้ว่าควรจะพัฒนาอะไรและไปในทิศทางไหน

6. สมาธิดีขึ้น อันนี้ค่อนข้างตรงไปตรงมามากๆเลยนะครับ เราฝึกสมาธิ ทำให้สมาธิในการจดจ่อกับเรื่องต่างๆของเราดีขึ้น

7. ในคนสูงอายุที่เริ่มมีปัญหาของความจำ การฝึกสมาธิสามารถทำให้ความจำดีขึ้นได้

8. ในคนที่กำลังจะเลิกการเสพติดอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการติดบุหรี่ ติดเหล้า ติดการพนัน หรือติดเกม พบว่าถ้าได้มีการฝึกจิตร่วมไปด้วย จะทำให้การเลิกเสพติดสิ่งต่างๆ ทำได้ง่ายขึ้น และควบคุมตัวเองไม่ให้กลับไปเสพอีกได้ดีขึ้น

9. ช่วยอาการปวดเรื้อรังต่างๆ (นอกเหนือไปจาก fibromyalgia) ในบางคนได้ โดยเฉพาะคนที่รักษาด้วยวิธีการของแพทย์แผนปัจจุบันแล้วยังได้ผลไม่ดีนัก การเพิ่มการทำสมาธิเข้าไปด้วย อาจจะมีประโยชน์ในผู้ป่วยบางคน แต่ที่น่าสนใจคือ แม้ว่าในคนที่อาการปวดไม่ดีขึ้น แต่ผลกระทบทางจิตใจต่อความเจ็บปวด เช่น ซึมเศร้า ความกังวล ความกลัว ดีขึ้นได้

แต่ถึงแม้บางข้อหลักฐานยังไม่ชัดเจน แต่การฝึกจิตหรือนั่งสมาธิ ถือได้ว่า เป็นสิ่งที่แทบจะไม่มีต้นทุนเลย (นอกจากเวลาเล็กน้อย) ไม่มีผลข้างเคียง และมีประโยชน์หลายอย่าง จนคิดว่า ถ้าใครเป็นสายสุขภาพจริงๆ ก็ไม่น่าพลาดที่จะใส่การนั่งสมาธิเข้าไปในลิสต์ของสิ่งที่ควรทำอีกสักอย่างนะคะ

#การฝึกสมาธิ, #การนั่งสมาธิ, #การทำสมาธิสามารถช่วยรักษาโรค, #ประโยชน์ของการนั่งสมาธิ, #การฝึกจิต, #การพัฒนาจิต, #ความสุขจากสมาธิ, #5วิธีเอาชนะใจตนเองให้นั่งสมาธิ, #อุปสรรคในการนั่งสมาธิ, #วิธีการนั่งสมาธิที่ถูกต้อง