วังนาคินทร์ เกาะ คำชะโนด

วังนาคินทร์ เกาะ คำชะโนด

โดย อัญชลี เรืองจิต
ภายใต้อากาศที่ร้อนอบอ้าวเกือบตลอดทั้งวัน บ่ายวันนี้มองเห็นเมฆดำทะมึนตั้งเค้ามาแต่ไกล ลมพัดแรงเป็นระยะ สัญญาณพายุฝนที่กำลังจะลงเม็ดในอีกไม่ช้า แต่กลับไม่เป็นที่หวั่นไหวต่อศรัทธาของคลื่นมหาชนที่เดินทางมายัง คำชะโนด แต่อย่างใด

#วังนาคินทร์ เกาะ #คำชะโนด คือชื่อเรียกด้วยความเคารพของผู้คนที่นี่ สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของประเทศ ดึงดูดเม็ดเงินนับพันล้าน ไม่ว่าจะมองไปทางไหนคลาคล่ำไปด้วยผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ เดินเบียดเสียดกันไปตั้งแต่บริเวณทางเข้าสะพานปูนปั้นพญานาค จนถึงบันไดทางขึ้นศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธ ประคองพานบายศรีรูปพญานาคขนาดต่าง ๆ เข้าไปบูชาด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอย่างเปี่ยมล้น บ้างว่าเป็นความเชื่อ บ้างว่าเป็นตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมา บ้างว่าเป็น #เรื่องลี้ลับ #อาถรรพ์ และ #สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่จะด้วยเหตุผลกลใด #ความหวัง หนึ่งที่ยังโชนแสงอยู่ในดวงใจผู้คนที่นี่ คือหวังจะให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักรับรู้ถึงแก่นสารอันแท้จริง แห่งรากเหง้าทางวัฒนธรรมอันงดงามที่มีมาแต่โบราณ มิใช่เพียงเปลือกนอกอันฉาบฉวย ที่ระบบเศรษฐกิจและสังคมในโลกทุนนิยมหล่อหลอมให้เป็นไป

เมื่อ 70 ปีเศษมาแล้ว…
บ้านวังตาล อำเภอบ้างดุง จังหวัดอุดรธานี เป็นเพียงหมู่บ้านเล็ก ๆ ห่างไกลความเจริญ มีชาวบ้านอาศัยอยู่เพียงไม่กี่หลังคาเรือน ส่วนใหญ่ทำไร่ทำนา หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ความเชื่อและความศรัทธาของผู้คนที่นี่เหมือนคนชนบทส่วนใหญ่ ที่มีน้ำใจและเลื่อมใสในศาสนา พึ่งพาสิ่งใดย่อมเคารพสิ่งนั้น จึงนับถือทั้งพระและนับถือผี นับเป็นความงามทางวัฒนธรรมที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว ภายใต้รอยยิ้มแห่งอัธยาศัยไมตรี ใสซื่อจริงใจ เอื้อเฟื้อแบ่งปันซึ่งกันและกัน

ตั้งแต่โบราณมาสถานสำคัญของหมู่บ้านแห่งนี้ คือ #เกาะคำชะโนด หรือ #ป่าคำชะโนด ตั้งอยู่ในพื้นที่ราว 24 ไร่ ครอบคลุม 3 ตำบล คือ ตำบลวังทอง, ตำบลบ้านม่วง และตำบลบ้านจันทร์ ในอำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี โดยพื้นที่ในเกาะคำชะโนด แบ่งพื้นที่เป็น 3 จุดสำคัญ จุดที่ 1 คือ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ จุดที่ 2 คือ ตำหนักที่ประดิษฐานพระรูปพ่อปู่ศรีสุทโธและแม่ย่าศรี ปทุมมา และจุดที่ 3 บริเวณด้านในสุด คือ บริเวณต้นโพธิ์และต้นมะเดื่อยักษ์

เกาะคำชะโนดมีลักษณะเป็นเกาะกลางน้ำ เต็มไปด้วยต้นชะโนดนับพันต้น ต้นชะโนดเป็นต้นไม้ตระกูลปาล์มชนิดที่หายากมากในประเทศไทย ประกอบด้วยต้นมะพร้าว ต้นหมาก และต้นตาล ผสมผสานในต้นเดียว กล่าวคือมีใบเหมือนใบตาล ลำต้นเหมือนต้นมะพร้าว แต่สูงกว่าต้นมะพร้าว วัดได้สูงสุดถึง 200 เมตร ลูกเป็นเม็ดเล็ก ๆ สีม่วง คล้ายหมาก และมีหนามขึ้นโดยรอบ เมื่อลำต้นโตขึ้นหนามจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ มองเผิน ๆ คล้ายเกล็ดพญานาค อายุเป็นร้อยปี กล่าวได้ว่าต้นชะโนดเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย คือ เกาะคำชะโนดแห่งนี้ เท่านั้น และถือเป็นป่าพรุน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดแห่งเดียวในประเทศที่ต้องอนุรักษ์ไว้

ในปี พ.ศ. 2520 เป็นครั้งแรกที่ชาวบ้านได้ทำการสำรวจจำนวนต้นชะโนดในป่าแห่งนี้ มีอยู่ราว 2,000 กว่าต้น แต่ปัจจุบันต้นชะโนดได้ลดจำนวนลงเรื่อย ๆ จึงมีหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ร่วมกันทำโครงการปลูกต้นชะโนดเพื่ออนุรักษ์พืชหายากในประเทศไทย ซึ่งปลูกได้ที่เกาะคำชะโนดเพียงแห่งเดียว

ปู่ย่าตายายท่านเล่าว่า แต่โบราณมาเกาะคำชะโนดไม่มีใครเดินไปถึง เพราะเป็นเกาะกลางน้ำ เดินไปไม่กี่ก้าวน้ำก็ท่วมเข่าแล้ว ได้แต่มองเห็นอยู่ไกล ๆ ตกกลางคืนความมืดเข้าปกคลุม บรรยากาศวังเวงน่ากลัว หลังตะวันตกดินไปแล้วเปล่าเปลี่ยวจนแทบไม่มีใครกล้าเดินผ่าน อากาศบริเวณนี้จะเย็นเยียบกว่าพื้นที่อื่น ๆ ในละแวกหมู่บ้าน นิ่งเงียบจนน่าพิศวง เมื่อยามต้นชะโนดต้องลมจะมีเสียง วืด ๆ หวือ ๆ ดังไปทั่วบริเวณ ลำต้นส่ายเอนไปมาเหมือนมีชีวิต เป็นที่หวาดกลัวของคนสัญจรไปมา คนแถวนี้จึงเรียกเกาะคำชะโนดว่าดงผีบ้าง เกาะผีบ้าง

น่าประหลาดยิ่งไปกว่านั้นคือปกติในฤดูน้ำหลากน้ำจะท่วมทุกปี แต่ที่เกาะคำชะโนดแห่งนี้ไม่เคยน้ำท่วมเลย มีระดับน้ำขึ้นน้ำลงเหมือนแม่น้ำโขง จึงได้ตั้งศาลปู่ตาเล็ก ๆ ไว้ที่เกาะคำชะโนด เพราะเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยปกปักรักษา ชาวบ้านมักจะนำของเซ่นไหว้ ดอกไม้ธูปเทียนมาบูชาตามประเพณี นับแต่นั้นเรื่องราวลี้ลับก็เกิดขึ้นมากมาย

เรื่องราวของ #พญานาคแห่งคำชะโนด เริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อหลวงปู่คำตา หรือนายคำตา ทองสีเหลือง อดีตชาวบ้าน บ้านวังทอง ได้หายตัวไปโดยไม่มีใครพบเห็นเป็นเวลา 2 วัน เมื่อกลับมา หลวงปู่คำตาได้เล่าว่าตนเองถูกพญานาคพาตัวไปยังเมืองบาดาลในป่าคำชะโนด เพื่อไปประกวดชายงาม จนได้รางวัลที่หนึ่ง เมื่อกลับมาจึงได้เล่าเรื่องราว อัศจรรย์ของ #พญานาค ที่ได้พบเจอให้ลูกหลาน และชาวบ้านฟัง จากนั้นหลวงปู่คำตาก็ได้บวช และจำพรรษาอยู่ใกล้ๆ กับเกาะคำชะโนดจวบจนมรณภาพ ซึ่งปัจจุบันคือวัดสิริสุทโท จากนั้นชื่อของเกาะคำชะโนด เริ่มเป็นที่รู้จักว่าเป็น #ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ของ #เมืองพญานาค ปกครองโดยพญาศรีสุทโธนาคราชที่ชาวบ้านเรียกว่าพ่อปู่ศรีสุทโธ และแม่ย่าศรีปทุมมา นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ตำนานพญานาคแห่งเกาะคำชะโนด

ใน #ตำนานอุรังคธาตุ ได้กล่าวถึงพญานาคตอนหนึ่งว่า มีกษัตริย์พญานาคสองตนปกครอง “หนองกระแส” อยู่คนละส่วน องค์หนึ่งชื่อ “พระยาสุวรรณนาคราช” ปกครองด้านทิศตะวันตก อีกองค์หนึ่งชื่อ “พระยาศรีสุทโธนาคราช” ปกครองด้านทิศตะวันออก เมื่อได้อาหารมาก็จะแบ่งปันกัน วันหนึ่งพญานาคทั้งสองเกิดขัดข้องหมองใจกันเรื่องแบ่งปันอาหาร จึงก่อสงครามสู้รบกันเป็นเวลานานถึง 7 ปี 7 เดือน 7 วัน

การสู้รบของพญานาคทั้งสอง ร้อนอาสน์ไปถึงพระอินทร์ จึงได้เสด็จมายังหนองกระแส แล้วเข้าห้ามปรามมิให้รบพุ่งกัน โดยพระอินทร์ได้ตั้งกติกาให้พญานาคทั้งสองแข่งขันกันสร้างแม่น้ำคนละสาย พญาศรีสุทโธนาคราชสร้างแม่น้ำโขง ส่วนพญาสุวรรณนาคราชสร้างแม่น้ำน่าน ใครสร้างเสร็จก่อนพระอินทร์จะมอบปลาบึกให้เป็นรางวัล ในที่สุดพญาศรีสุทโธนาคราชเป็นฝ่ายชนะ จึงเป็นผู้ได้ปลาบึกมาไว้ยังแม่น้ำโขง ดังนั้นปลาบึกจึงปรากฏมีเพียงในแม่น้ำโขงแห่งเดียวในโลก

นอกจากนี้ พญาศรีสุทโธนาคราช ได้ร้องขอต่อพระอินทร์ เพื่อสร้างประตูเชื่อม #ภพมนุษย์กับ #ภพบาดาล ไว้ 3 แห่ง ได้แก่ 1.พระธาตุหลวง นครเวียงจันทร์ 2. ดอนจันทร์ สะดือแม่น้ำโขง ประเทศลาว และ 3.บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เกาะคำชะโนด จ.อุดรธานี
พระอินทร์ให้พญาศรีสุทโธนาคราช และบริวารมาตั้งบ้านเรือนอยู่ถิ่นนี้ ตั้งชื่อว่า วังนาคินทร์ คำชะโนด เมื่อถึงข้างขึ้น 15 วัน ให้กลายร่างเป็นมนุษย์ ส่วนอีก 15 วันในข้างแรม ให้กลายร่างเป็น #พญานาค อาศัยอยู่ใน #เมืองบาดาล

ก่อนปี พ.ศ. 2500 พี่น้องชาวบ้านม่วง บ้านเมืองไพร บ้านวังทอง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี มักจะไปพบเห็นชาว #เมืองชะโนด หรือที่เรียกกันว่าชาว #เมืองลับแล หรือ #เมืองบังบด ไปเที่ยวงานบุญประจำปี ทั้งผู้หญิง และผู้ชายอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นงานบุญ #ฟังเทศน์มหาชาติ ที่ชาวบ้านเรียกว่า #บุญผะเหวด บางทีจะมีผู้หญิงจากเมืองบังบดมายืมฟืมทอผ้าอยู่เป็นประจำ หรือเรื่อง “ผีจ้างหนัง” ที่กลายเป็นตำนานโด่งดังในปี พ.ศ. 2532 เป็นที่กล่าวขานจนหน่วยฉายหนังเร่ เมืองอุดรหวาดผวาไปตาม ๆ กัน โด่งดังมากจนกระทั่งมีคนนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์

นอกจากตำนานเล่าขานแล้ว ยังมีเรื่องของบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ กลางเกาะคำชะโนด หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ #ปล่องพญานาค ” เชื่อว่าเป็นทางขึ้นลงของพญานาคที่อยู่เมืองบาดาล มีลักษณะคล้ายบ่อน้ำตามธรรมชาติทั่วไป ระดับน้ำของบ่อน้ำแห่งนี้ มีระดับขึ้นลงเหมือนแม่น้ำโขง ซึ่งไม่สามารถวัดประมาณความลึกได้

เมื่อถึงเทศกาลออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ยามที่มีบั้งไฟพญานาคผุดขึ้นตามที่ต่าง ๆ ของลำน้ำโขง บางครั้งจะมีดวงไฟสีแดงลอยขึ้นมาจากสระน้ำแห่งนี้เช่นเดียวกัน สร้างความประหลาดใจกับชาวบ้านมานักต่อนักแล้ว อีกประการหนึ่งคือที่สระน้ำแห่งนี้จะมีฟองอากาศผุดขึ้นมาคล้ายมีสิ่งมีชีวิตบางอย่างหายใจอยู่ใต้น้ำ ชาวบ้านเชื่อว่านี่คือลมหายใจของพญานาคในเมืองบาดาล จึงทำให้ผู้คนมากมายนำน้ำภายในบ่อศักดิ์สิทธิ์ไปรักษาโรค ไปดื่ม ไปอาบ ไปบูชาไว้ภายในบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคลของตนเองและครอบครัว ผลลัพธ์ที่ได้ขึ้นอยู่กับความเลื่อมใสศรัทธาของแต่ละบุคคล

ดูเหมือนการก่อเกิดของเกาะคำชะโนด หรือวังนาคินทร์ คำชะโนด ที่ปกครองโดยพ่อปู่ศรีสุทโธและแม่ย่าศรีปทุมมา จะไม่ใช่เพียงเรื่องเล่าปรัมปราอีกต่อไป เมื่อมีผู้เห็นอภินิหาร ที่เชื่อว่าเกิดจากความศักดิ์สิทธิ์ของพญานาคราชทั้งสองพระองค์ ปรากฏออกมาหลายรูปแบบ ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ทางวิทยาศาสตร์ และนั่นยิ่งทำให้ ความเชื่อ ความศรัทธา ของผู้พบเห็น ฝังรากหยั่งลึกขึ้น ทำให้เกาะคำชะโนดกลายเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ลี้ลับที่ผู้คนมากมายอยากเข้ามาสัมผัสและฝากความหวังเอาไว้

เกาะคำชะโนดวันนี้จึงแตกต่างจากในอดีตอย่างสิ้นเชิง เพราะเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่ถาโถมเข้ามาในปัจจุบัน ทำให้รูปแบบพิธีกรรม ประเพณีวัฒนธรรมอันงดงาม และบทบาทของพญานาคผู้ปกครองเมืองบาดาลที่เล่าขานสืบต่อกันมาในอดีตเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นเพียงการบนบานศาลกล่าว การเสี่ยงโชค และการทรงเจ้าเข้าทรงเข้ามาแทนที่ ระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์และหายาก ป่าพรุน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดอายุนับร้อยปี ซึ่งเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยแห่งนี้ นับวันจะถูกทำลายลงไปเรื่อย ๆ ยากจะฟื้นฟูให้กลับคืนมางดงามดังเดิม

หากเราลองมาช่วยกันนั่งนึกทบทวน ว่าอีก 5 ปี 10 ปี ข้างหน้า เราอยากเห็นวังนาคินทร์ เกาะคำชะโนดแห่งนี้อยู่ในการท่องเที่ยวรูปแบบไหน อะไรคือแก่นแท้อันทรงคุณค่าที่เราควรรักษาไว้ อะไรคือรากเหง้าวัฒนธรรมอันแท้จริงที่เราสูญเสียไป และอะไรคือประวัติศาสตร์ที่กำลังจะถูกลบเลือน เราคงต้องมาช่วยกันตั้งแต่วันนี้ โดยเปลี่ยนจากนักแสวงบุญ “ ผู้ขอ ” มาเป็น “ ผู้ให้ ” ให้ความหวงแหนคุณค่าทางวัฒนธรรมแก่คนรุ่นหลัง ให้ต้นแบบที่ดีในการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

เมื่อเราปักหมุดว่าดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้คือพื้นที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เราต้องละเอียดอ่อนต่อแนวทางปฏิบัติทุกอย่างที่จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมความเป็นพื้นที่วัฒนธรรม ซึ่งต้องรักษาแก่นแท้ดั้งเดิมไว้ให้มากที่สุด เพราะเป็นมรดกล้ำค่าตกทอดถึงลูกหลาน เรื่องราวของศีลธรรมที่แฝงมาในรูปแบบวัฒนธรรม แตกต่างจากการท่องเที่ยวแบบมวลชน ที่มุ่งเน้นดัชนีเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง เน้นปริมาณมาก่อนคุณภาพ แต่จะมีใครสักกี่คนที่มองย้อนกลับไปถึงคุณค่าและความสัมพันธ์บางประการ ที่อาจไม่เคยมีใครพูดถึง

แม้ตำนาน เรื่องเล่าในมิติต่าง ๆ ของเกาะคำชะโนดแห่งนี้ จะถูกฉายภาพซ้ำให้เรารับรู้อีกสักกี่ครั้งก็ตาม คำถามอีกมากมายที่ยังรอคำตอบ และอีกกี่เรื่องราวที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่ความจริงที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า คือคุณค่าทางวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงและระบบนิเวศน์หายากที่กำลังจะสูญหายไป และอีกไม่ช้าคงกลายเป็น ตำนานแห่งศรัทธา ที่ลูกหลานไทยในวันข้างหน้า อาจจะต้องเล่าขานสู่กันฟังว่า

กาลครั้งหนึ่ง… นานมาแล้ว…