อุทิศส่วนกุศล อุทิศบุญ ให้หมู่ญาติผู้ล่วงลับ ปุพพเปตพลี

อุทิศส่วนกุศล

การ อุทิศส่วนกุศล หรือเรียกว่าการ อุทิศส่วนบุญ ที่ตนได้บำเพ็ญไปให้ญาติที่เสียชีวิตแล้ว เป็นการแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทิตา ต่อญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว อีกทั้งยังเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาอีกด้วย เราจึงควรทำบุญ อุทิศส่วนกุศล ให้ผู้ล่วงลับไปแล้วบ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันพระ และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

การอุทิศบุญให้ในวันพระ

วันพระ เป็นวันประชุมถือศีลฟังธรรมในพระพุทธศาสนา เดือนหนึ่งจะมี 4 วัน คือ วันขึ้น 8 ค่ำ,ขึ้น 15 ค่ำ, แรม 8 ค่ำ, และแรม 15 ค่ำ ถ้าเป็นเดือนขาดเรียกว่าแรม 14 ค่ำ

วันขึ้น 15 ค่ำ ถือเป็นวันพระใหญ่ ซึ่งเดือนหนึ่ง ๆ จะมีเพียงวันเดียว วันพระใหญ่ ถือเป็นวันสำคัญที่บุตรหลานและญาติมิตร จะต้องทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ละโลกไปแล้ว เพราะวันอื่นสัตว์นรกไม่ว่างเว้นจาก ทัณฑ์ทรมานยังรับบุญไม่ได้ แต่ในวันพระใหญ่นั้นการทัณฑ์ทรมานในยมโลกจะหยุดลงชั่วคราว ทำให้บุญ ที่หมู่ญาติอุทิศส่วนกุศลไปให้ได้ช่องส่งผล บวกกับบุญเก่าที่เคยทำมา จะช่วยส่งให้หลุดพ้นจากขุมนรกในยมโลก ไปสู่สุคติตามกำลังบุญ

บุญสามารถอุทิศให้กันได้ ถ้าไม่ แบ่งบุญ ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ก็ไม่มีโอกาสได้ ส่วนบุญ กับเรา พระพุทธองค์จึงทรงสอนเหล่าพุทธบริษัทให้รู้จักการ อุทิศส่วนบุญ อุทิศส่วนกุศล ให้หมู่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว เมื่อเราให้เขาได้มีส่วนแห่งบุญ แทนที่บุญจะหมดไป แต่กลับกลายเป็นได้บุญ เพิ่มขึ้น เหมือนต่อแสงเทียนให้สว่างยิ่ง ๆ ขึ้นไป โดยเริ่มจากตัวผู้อุทิศส่วนกุศลซึ่งเป็นดวงที่หนึ่ง ขยายต่อไปเป็นสองดวง สามดวง สิบดวง ร้อยดวง พันดวง ยิ่งต่อไปมากเท่าไรก็ยิ่งสว่างไสวเพียงนั้น

โดยเฉพาะหลังออกพรรษา ช่วงเทศกาลทอดกฐิน เราจะได้โอกาสสั่งสมบุญที่มีอานิสงส์มาก ทำบุญแล้วปลื้มปีติ ก็ย่อมปรารถนาที่จะ แผ่อุทิศบุญ ให้แก่หมู่ญาติที่จากไปแล้ว ปรารถนาให้เขามีความสุขเช่นกัน

โดยหลักให้ทำใจใส ๆ นึกถึงชื่อหรือรูปร่างหน้าตาของหมู่ญาติหรือบุคคลที่เราต้องการแผ่ส่วนบุญชนิดจำเพาะเจาะจงให้ แต่จะอุทิศส่วนกุศลโดยรวม ๆ ก็ได้

ประเพณีการทำบุญให้ผู้ตาย ในช่วง 7 วัน 50 วัน และ 100 วัน นับแต่โบราณนานมาจะมีการทำบุญกุศลให้แก่ผู้ตายในช่วง 7 วันนับตั้งแต่วันสิ้นลม เรียกว่า “สัตมวาร” ทำบุญในช่วง 50 วัน เรียกว่า “ปัญญาสมวาร” และทำบุญในช่วง 100 วัน เรียกว่า “สตมวาร”

ทำไมต้องทำบุญในช่วง 7 วัน 50 วัน และ 100 วัน ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สภาวะจิตก่อนละโลก เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด ซึ่งถือเป็นศึกชิงภพ คือ ถ้าจิตผ่องใส ไม่เศร้าหมอง ย่อมมีสุขคติเป็นที่ไป แต่ถ้าจิตเศร้าหมองไม่ผ่องใส ย่อมมีทุคติ เป็นที่ไป กล่าวง่าย ๆ คือ “ใจใสไปสวรรค์ ใจหมองไปอบาย”

ส่วนใหญ่ชีวิตหลังความตายของผู้ที่ละโลกไปแล้ว สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มก็คือ

กลุ่มที่1: ใจไม่ใส ไม่หมอง ขณะมีชีวิตอยู่ บุญไม่ทำ กรรม (บาป) ไม่สร้าง กลุ่มนี้จะมีโอกาสอยู่ในโลกมนุษย์ 7 วัน ครบ 7 วัน เจ้าหน้าที่จะมารับตัวไปยมโลก เพื่อรอพิพากษา กายละเอียดกลุ่มนี้ แม้เลย 7 วันไปแล้ว หมู่ญาติยังมีโอกาสทำบุญให้ได้อีก ในช่วง 100 วัน เพราะถึงแม้ กายละเอียดจะไปยมโลกแล้ว แต่ยังเป็นช่วงที่มีโอกาสรับบุญได้ เพราะยังไม่ได้รับคำพิพากษา

กลุ่มที่2: ใจผ่องใส เพราะทำบุญมาตลอด ทำบาปน้อย กลุ่มนี้บุญส่งผลให้ไปบังเกิดในสุคติภพได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ครบ 7 วัน และถึงแม้จะไปเกิด ในสุคติภพแล้ว หมู่ญาติก็ยังสามารถอุทิศบุญได้ตลอดเวลา

กลุ่มที่3: ใจหมอง ดำมืด เพราะทำบาปมาตลอด ทำบุญน้อย กลุ่มนี้จะถูกดูดไปเกิดในทุคติภูมิทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ครบ 7 วัน โดยมากมักจะถูกดูดไปเกิดที่ อุสสทนรก หรือมหานรก ไม่สามารถรับบุญได้เลย แม้หมู่ญาติจะอุทิศไปให้ภายใน 50 วัน หรือ 100 วันก็ตาม จนกว่าจะย้ายมารับการลงทัณฑ์ลหุโทษที่ยมโลก ซึ่งบุญที่อุทิศเอาไว้จะได้ช่องส่งผลให้พ้นจากทัณฑ์ทรมาน แม้หมู่ญาติจะอุทิศบุญให้แล้วเมื่อหลายล้านปีก่อน แต่บุญนั้นก็ยังรอส่งผลไม่หายไปไหน

ดังนั้น การที่จะต้องทำบุญ 7 วัน 50 วัน 100 วัน จึงมีความสำคัญ เพราะการทำบุญช่วง 7 วันคือ ช่วงที่กายละเอียด หรือวิญญาณยังวนเวียนอยู่ในโลกมนุษย์ สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ไปมหานรก ก็จะมีโอกาส ช่วยกันได้ใน 7 วันนั้น การทำบุญช่วง 50 วัน คือช่วงที่รอคอยการพิพากษาจากพญายมราชในยมโลก การทำบุญ ระหว่าง 50 – 100 วัน คือช่วงพิพากษา และส่งไปเกิด เช่น ไปเกิดในมหานรก ในยมโลก เป็นมนุษย์ เปรตอสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น ช่วงนี้จะรับบุญได้ หลักการส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นภายใน 7 วัน 50 วัน ต้องทำบุญทุกบุญให้เต็มกำลังแล้วอุทิศไปให้ ซึ่งจะกล่าวอุทิศบุญแด่ผู้ล่วงลับ ด้วยวาจาก็ได้ จะเป็นภาษาบาลี หรือภาษาใดก็ได้ ตามแต่ผู้ทำบุญจะถนัด ที่สำคัญคือมีจิตมุ่งที่จะอุทิศบุญ

การ กรวดน้ำ หรือหยาดน้ำนั้น เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่ง ที่จะน้อมใจของผู้อุทิศให้จรดนิ่งเป็น สมาธิ กับสายน้ำ แต่ถ้าผู้ทำบุญมีใจแน่วแน่อยู่แล้ว จะใช้ที่กรวดน้ำหรือไม่ใช้ ก็สามารถ อุทิศส่วนกุศล ได้เหมือนกัน เช่น“ข้าพเจ้าขอ อุทิศบุญ จากการถวายสังฆทานในครั้งนี้ให้กับ นางไปดี มีสุข และหมู่ญาติทั้งหลายผู้ล่วงลับไปแล้ว”

อย่างไรก็ตาม การอุทิศบุญให้ผู้ล่วงลับนั้น มิได้หมายความว่าจะทำให้บุญของผู้อุทิศลดลงหรือ หมดสิ้นไป แต่กลับจะทำให้บุญเพิ่มมากขึ้นอีก เพราะเป็นบุญที่เกิดจากการ “อุทิศบุญ” หรือ “ปัตติทานมัย”เปรียบเหมือนเราจุดประทีปโคมไฟแล้วส่งต่อความ สว่างนี้ไปยังโคมไฟดวงอื่น ๆ นอกจากประทีปของเรา จะไม่ดับลงหรือสูญเสียความสว่างแล้ว ความสว่างไสวกลับมีมากขึ้น

การอุทิศบุญ หรือ การ แบ่งส่วนบุญส่วนกุศล ให้กับผู้ตาย จะทำให้บุญในตัวของเรา มีมากขึ้น เพราะการอุทิศบุญให้แก่ผู้ล่วงลับจัดเป็นปัตติทานมัย ซึ่งเป็นหนึ่งในทางมาแห่งบุญ 10 ประการหรือบุญกิริยาวัตถุ 10 นั่นเอง

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ

1. ทาน การให้
2. ศีล การรักษากายวาจาให้สะอาด
3. ภาวนา การอบรมจิตใจด้วยสมถะและวิปัสสนา
4. เวยยาวัจจะ การขวนขวายช่วยเหลือกิจการงานอันชอบธรรมของผู้อื่น
5. อปจายนะ กระประพฤติอ่อนน้อม
6. ปัตติทาน การให้ส่วนบุญที่ตนทำแล้วแก่ผู้อื่น
7. ปัตตานุโมทนา การอนุโมทนาคือชื่นชมยินดีในบุญที่ผู้อื่นกระทำแล้ว
8. ธัมมัสสวนะ การฟังธรรม
9. ธัมมเทศนา การแสดงธรรม และ
10. ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความเห็นให้ตรง

ซึ่งบุญประการสุดท้ายนี้คือปัญญา ถ้าทุกคนมีปัญญารู้ทุกอย่างตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะยอมรับการทำบุญที่เหลืออีก ๙ ประการว่า เป็นสิ่งที่เป็นความจริง

การทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปหาผู้ที่ล่วงลับไปแล้วจะได้รับหรือไม่

อาหารนั้นมี ๔ ประเภท

อาหารวาร

[๑๑๓] ท่านพระสารีบุตรตอบว่า พึงมีอยู่ ท่านผู้มีอายุ เมื่อใดอริยสาวกรู้ชัดซึ่งอาหาร
เหตุเกิดแห่งอาหาร ความดับอาหาร และทางที่จะให้ถึงความดับอาหาร แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้

อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ … มาสู่พระสัทธรรมนี้ ก็อาหาร เหตุเกิดแห่งอาหาร ความดับอาหาร ทางที่จะให้ถึงความดับอาหาร เป็นไฉน? ได้แก่อาหาร ๔ อย่างเหล่านี้ เพื่อความดำรงอยู่ของหมู่

สัตว์ผู้เกิดแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด อาหาร ๔ อย่างเป็นไฉน? คือ

๑ อาหาร คือ คำข้าว หยาบหรือละเอียด
๒ อาหาร คือ ผัสสะ
๓ อาหาร คือ ความคิดอ่าน [จงใจ]
๔ อาหาร คือ วิญญาณ [ความรู้แจ้งทางทวาร ๖]

ที่มา : พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สัมมาทิฎฐิสูตร อาหารวาร

ในเมื่อรู้แล้วว่าอาหารนั้นมี ๔ ประเภท ต่อมาก็คือ การที่ผู้ล่วงลับนั้นจะได้รับ หรือไม่นั้นต้องขึ้นอยู่กับว่าคนๆนั้นอยู่ภพภูมิไหน ถ้าคนๆนั้นไปสู่สุคติภูมิ ในสุคติภูมิ ย่อมให้ผลเป็นสุข เพราะฉะนั้นทำบุญไป ย่อมได้รับทันทีเลย เพราะกุศลวิบากกำลังให้ผลอยู่ ถ้าคนๆนั้นไปสู่ทุคติภูมิ ในทุคติภูมิ ย่อมให้ผลเป็นทุกข์ เพราะในทุคตินั้น อกุศลวิบากกำลังให้ผลอยู่ กุศลวิบากจึงไม่สามารถแทรกเข้าไปได้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่ได้บุญในส่วนนั้น แต่ถ้าเปลี่ยนภูมิไปสู่สุคติภูมิบุญก็จะได้รับ

เราอย่ากังวลไปเลยว่าจะได้รับ หรือไม่ได้รับนั้น ทางที่ดีเราควรหมั่นทำบุญไว้ บุญที่เห็นผลทันตาเลยก็คือ ตอนที่คุณถวายอาหารแด่พระ เพราะถวายเสร็จคุณก็รู้สึกแช่มชื่น โสมนัส จิตคุณก็เป็นกุศล นี่แหละคือบุญที่เกิดขึ้น ก็คือ เกิดจิตเป็นกุศล

หมั่นทำ จิตให้เป็นกุศล อยู่ตลอดเวลา

บุญ คือ พลังงานอันบริสุทธิ์ มีอานุภาพยิ่งใหญ่กว่าพลังทั้งปวง เป็นเครื่องนำมาซึ่งความสุข และความสำเร็จในชีวิต

การทำบุญ แบ่งเป็น3หลักใหญ่ๆ

1) ทาน – ใส่บาตร สังฆทาน สร้างวัด สงเคราะห์เพื่อนฝูง บิดามารดา etc / ใช้เงิน – ได้บุญ
น้อยสุด***
2) ศีล – ศีล5 ศีล8 ศีล227 / ไม่ต้องใช้เงิน – ได้บุญมากกว่า***
3) ภาวนา – การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน / ไม่ต้องใช้เงิน – ได้บุญมากที่สุด***

คำอุทิศบุญกุศล

“อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย”

แปลว่า
“ขอผลบุญนี้ จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพระเจ้า ขอญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด”

คำอธิษฐานจิต อุทิศบุญกุศล

(หันทะ มะยัง พุทธัสสะ ภะคะวะโต ปุพพะภาคะนะมะการัง กะโรมะ เส.)
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ(3 ครั้ง)
วันนี้วันดี เป็นวันพระชัยศรี มีพุทธบริษัททั้งหลายมาร่วมบำเพ็ญบุญกุสล อีกทั้งเหล่าพระภิกษุสงฆ์ได้ทบทวนพระธรรมวินัยประพฤติวัตรใน อุโบสถทบทวนพระปาติโมกข์ ขอบุญกุศล ที่ข้าพระเข้าทั้งหลาย ได้กระทำไว้ดีแล้วนี้ น้อมถวายเป็นกตัญญูบูชาแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อีกทั้งมหาปูชนียาจารย์ และขออุทิศกุศลผลบุญ ที่ข้าพระเจ้าทั้งหลายได้กระทำไว้ดีแล้วนี้ แด่บิดามารดา ครูบาอาจารย์อีกทั้งบริวารญาติมิตร และผู้มีพระคุณทั้งหลาย ทั้งเหล่าสรรพสัตว์ทั้งปวง

สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อน ทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น
อะเวรา จะเป็นสุขเป็นสุขเถิดอย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย
อัพยาปัชฌา จงเป็นสุขเป็นสุขเถิดอย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
อะนีฆา จงเป็นสุขเป็นสุขเถิดอน่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ จงมีความสุขการสุขใจรักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด ท่านทั้งหลาย ที่ท่านได้ทุกข์ ของให้ท่านมีความสุขท่านทั้งหลาย ที่ท่านได้สุข ของให้สุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป ของความปรารถนาทั้งปวงของข้าพเจ้าทั้งหลาย จงเป็นผลสำเร็จ เป็นอัศจรรย์ทันใด และติดตามตัวไป ทุกภพทุกชาติ ตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรมเทอญ นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ

เรื่องเล่าจากพระไตรปิฏก : เปรตกลายเป็นเทวดาเพราะได้ส่วนบุญ

(จากพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย / เล่มที่ 39 หน้า 282)
บุญที่เราทำอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ล่วงลับสามารถช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ทรมานให้แก่วิญญาณ หรือกายละเอียดที่อยู่ในอบายภูมิได้ด้วย เช่นเดียวกับเรื่องราวในสมัยพุทธกาล คือ เรื่องเปรตญาติของ พระเจ้าพิมพิสาร

คืนวันหนึ่งขณะที่พระเจ้าพิมพิสารกำลังบรรทม ทรงได้ยินเสียงร้องโหยหวนอันน่าสะพรึงกลัว ครั้นรุ่งเช้าพระองค์จึงรีบไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อทูลถามถึงที่มาของเสียงนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสปลอบมิให้พระเจ้าพิมพิสารหวาดกลัว เพราะเสียงที่ทรงได้ยินนั้นจะไม่เป็นผลร้ายอันใด เนื่องจากเป็นเสียง ของเปรตจำพวก “ปรทัตตูปชีวี” คือ เปรตที่มีผลบุญของญาติเป็นอาหาร มีโอกาสรับรู้บุญที่หมู่ญาติอุทิศได้ เมื่อรับรู้และอนุโมทนาในผลบุญนั้นแล้ว ความอดอยากยากแค้น ก็จะบรรเทาเบาบาง หรือหมดสิ้นไปได้

ปรทัตตูปชีวีเปรตผู้เป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสาร ได้รอคอยผลบุญของพระเจ้าพิมพิสาร ด้วยความอดอยาก หิวกระหายมาเนิ่นนาน ครั้นเมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงถวายพระอารามเวฬุวันพร้อมทั้ง อุทยานแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและหมู่สงฆ์ แต่มิได้อุทิศผลบุญนั้นให้แก่หมู่ญาติ เปรตผู้ได้รับความทุกข์ยาก เหล่านั้นจึงมาส่งเสียงร้องคร่ำครวญเพื่อขอส่วนบุญ เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบความจริงแล้วจึงได้ ถวายทานแล้วแบ่งบุญให้แก่หมู่เปรตเหล่านั้น

เมื่อสิ้นสุดคำอุทิศส่วนกุศล ฝูงเปรตเหล่านั้นก็หลุดพ้นจากความหิวกระหายและความทุกข์ทรมาน ที่มีมาตลอดกาลนาน กระแสบุญได้บันดาลให้มีสภาพร่างกายที่ผ่องใสเป็นสุข แต่ก็ยังมิได้มีผ้านุ่งผ้าห่ม พระพุทธองค์จึงทรงแนะนำให้พระเจ้าพิมพิสารถวายผ้าสบงจีวรแด่พระภิกษุสงฆ์ แล้วอุทิศผลบุญให้แก่ บรรดาหมู่เปรตทั้งหลายอีกครั้ง เมื่ออุทิศแล้วบุญก็บันดาลให้เปรตเหล่านั้นมีเครื่องนุ่งห่ม พร้อมทั้งที่นอนและที่นั่งอันเป็นทิพย์ อีกทั้งวิมานที่ปรากฏอยู่ในอากาศ ในขณะเดียวกันพวกเขาก็พันจากอัตภาพของเปรตในทันที

เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้เห็นอานิสงส์ของการให้ทาน และการอุทิศผลบุญแก่บรรดาหมู่เปรตที่เป็นญาติ ก็เลื่อมใสศรัทธาในการทำทานมากยิ่งขึ้น จึงทรงถวายทานต่ออีก 7 วัน พระบรมศาสดาทรงกล่าวอนุโมทนา คาถาว่า “การทำบุญเพื่ออุทิศผลบุญแก่เปรตนั้น ชื่อว่าเป็นการบูชาญาติอย่างยิ่ง” ดังนั้นเราจึงต้องทำบุญอุทิศหรือ “ส่งบุญ” ให้ผู้ตายอยู่เสมอ ไม่ว่าหมู่ญาติเหล่านั้นจะอยู่ในสุคติหรือทุคติภูมิก็ล้วนแต่จำเป็นต้องใช้บุญทั้งสิ้น เปรียบได้กับมนุษย์ในโลกที่ต้องอาศัยทรัพย์สินเงินทองในการเลี้ยงชีพนั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก : กัลยาณมิตร ธรรมะไทย thamdhamma

https://www.youtube.com/watch?v=kGbb7XD9vLw

#อุทิศส่วนกุศล #อุทิศบุญ #อุทิศส่วนบุญ #อุทิศบุญกุศล
#ทำบุญ #แบ่งบุญ #ส่วนบุญ #แผ่อุทิศบุญ #กรวดน้ำ
#ปุพพเปตพลี #แบ่งส่วนบุญส่วนกุศล
#บุญกิริยาวัตถุ #เกิดจิตเป็นกุศล #คำอธิษฐานจิต