สมาธิ ที่เกิดจากกิจกรรม ทำความสะอาด

การฝึกสมาธิผ่านกิจวัตรประจำวัน โดยการความสะอาด ความมีระเบียบ แล้วไง สมาธิ จะมาตอนไหน ต้องทำยังไง ใจเย็น ๆ เอาเป็นว่า เรามาเริ่มต้นกันก่อนดีกว่าค่ะ แล้วคำถามต่างๆที่จะตามมา อาจจะไม่มีเลยก็ได้ ถ้าไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร มาเริ่มกันที่ห้องนอนของตัวเองกันก่อนเลยดีไหมคะ แต่เดี่ยวก่อนดีกว่า ก่อนที่จะไปเริ่มทำความสะอาด ก่อนจะไปจัดระเบียบกัน เราลองมาดูกันก่อนดีกว่าว่า ความสะอาดที่ว่านั้น สะอาดอย่างไร อะไรต้องสะอาดบ้าง สะอาดที่เราจะพูดถึงในที่นี้ คือ สะอาดกาย วาจา และใจ หมายความว่าอย่างไร เรามาดูกันทีละอย่างเลยนะคะ
สะอาดกาย วาจา และใจ หมายความว่าอย่างไร
สะอาดกาย หมายความว่า ร่างกาย เสื้อ ผ้า หน้า ผม ต้องสะอาด สะอาดแบบไหน ก็ไม่ต้องกังวล จนเกินไป เราอยากเป็นแบบไหน ได้แค่ไหน เอาแค่นั้นไปก่อน ยกตัวอย่าง ความสะอาดของผ้า ผ้าเช็ดพื้น ก็สะอาดแบบผ้าเช็ดพื้น ผ้าเช็ดโต๊ะ ผ้าเช็ดเลนส์ หรือผ้าเช็ดเพชร เราอยากได้สะอาดแบบไหน เอาตามที่เราถนัดไปก่อน วันที่เราคุ้น เคย ชิน พฤติกรรมของเราจะเปลี่ยนไปตามความละเอียดของใจ โดยอัตโนมัติค่ะ
สะอาดวาจา หมายความว่า คำพูดของเรา ต้องสร้างสรรค์ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ต้องเป็นคำพูดที่ จริง ตรง แท้ แม้พูดเล่น ก็ไม่ควร อันนี้ต้องค่อยๆทำไป ทำแบบสบาย ๆ มีโอกาสแล้วจะมาขยายความอีกในตอนต่อๆไป การฝึกสมาธิ ในชีวิตประจำวันนั้น เราสามารถทำได้ในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะเดิน ยืน นั่ง นอน เข้าห้องน้ำ โดยเราต้องมีสติกำกับ ให้มีสมาธิกับสิ่งที่เราทำ พยายามใช้ปิยวาจาในการสื่อสาร
สะอาดใจ หมายความว่า เราต้องคิดในสิ่งที่ดี ดีทั้งต่อต่อหน้าและลับหลัง ดังนั้น เราต้องคิด พูด ทำ ในสิ่งที่ดี และมีประโยชน์ ทั้งต่อตนเอง และผู้อื่นค่ะ
การจัดระเบียบในชีวิตประจำวัน เป็นกิจกรรมที่ทำได้ง่าย ๆ หลายคนอาจจะมองว่าเสียเวลา แต่เป็นการเสียเวลา เพื่อประหยัดเวลา เพราะหลังจากเราจัดข้าวของให้เป็นระเบียบ และทำความสะอาดอย่างดีแล้ว หลังจากนั้นเราสามารถทำงานทุกอย่างได้อย่างรวดเร็ว สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ใจจะสบายอย่างอัตโนมัติและไม่อยากเห็นข้าวของรกรุงรักและสกปรกอีก
การฝึกสมาธิผ่านกิจวัตรประจำวันวัน โดยการทำความสะอาด
การเริ่มต้นทำความสะอาดและจัดระเบียบ อาจจะเริ่มที่ห้องส่วนตัวของเราก่อน เช่น ห้องนอน อันดับแรก ลองสำรวจข้าวของเครื่องใช้ คัดแยก ของใช้ที่ชอบ ใช่ และเราได้ใช้แน่นอน ออกมา ที่เหลือ เอาออกให้หมด ถ้ายังเสียดาย ให้เอาไปไว้ในห้อง 20 บาท (ห้อง 20 บาท คือ ห้องที่เราเอาข้าวของเครื่องใช้ที่เรายังรู้สึกเสียดายไปเก็บไว้ ) รอ 3 เดือน ถ้าเราไม่ได้ใช้ของชิ้นนั้นเลย ให้บริจาค หรือเอาออกไปได้เลยหรือจะนำไปขาย หรือจะเก็บไว้อีก ก็ตามสะดวก แต่ให้เอาไปเก็บในห้องแยกต่างหากจากของที่จะต้องใช้บ่อยๆในชีวิตประจำวัน หลังจากนั้นรวบรวมของประเภทเดียวกัน ที่เราใช้บ่อย จัดให้สะดวกต่อการใช้ เช็ดทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ทุกชิ้นให้สะอาด เก็บเข้าที่ หลังจากเราทำความสะอาดและจัดระเบียบข้าวของแล้ว ของใช้ทุกชิ้น ต้องดูแลรักษาความสะอาด จัดเข้าที่ให้เป็นระเบียบทุกครั้งที่หยิบมาใช้งาน ฝึกฝนจน ถ้าหลับตาก็รู้ว่าชิ้นไหนอยู่ตรงไหน จนเราไม่ต้องเสียเวลาหาของ เมื่อเราจะใช้ของชิ้นนั้นๆ
ลองสังเกตนิสัยตัวเองหลังจากเราจัดเก็บสิ่งของให้สะอาดและเป็นระเบียบ ใจของเราจะถูกจัดระเบียบอย่างอัตโนมัติ ใจเราจะนิ่ง จะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับนิสัยของเรา เมื่อเราฝึกให้ตัวเองรักความสะอาด รักความเป็นระเบียบ เราจะสังเกตพบว่า เราสามารถจัดตารางเวลาในชีวิตได้อย่างยอดเยี่ยม นอกจากนี้ นิสัยจะควบคุมการกระทำของเรา มีคำกล่าวว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” แต่สิ่งที่ควบคุมจิต คือ “นิสัย “ ซึ่งหลายคนคาดไม่ถึงทีเดียวนะค่ะ ดังนั้น เราสามารถฝึกจิตของเราให้มีสมาธิ ให้ตั้งมั่น ได้อย่างง่ายๆ ผ่านกิจวัตร กิจกรรมประจำวัน ด้วยการทำความสะอาด การจัดระเบียบ ข้าวของทุกอย่างในชีวิต
การแยกเก็บตามห้องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
หลักการเก็บง่ายๆ คือ แยกเก็บของตามห้องต่างๆ ในชีวิตประจำวัน มาดูกันว่า เราจะฝึกนิสัย เราจะทำสมาธิผ่านห้องต่าง ๆ ได้อย่างไร ในที่นี้จะขอแบ่งเป็น 5 ห้องนะคะ 5 ห้องชีวิต เนรมิตนิสัย ได้แก่
1. ห้องนอน ขอเริ่มจากห้องนอนก่อนนะคะ ห้องนอน เป็นห้องที่เราใช้หลับนอนยาวนาน ดังนั้นต้องดูแลความสะอาดอย่างดี ถ้าไม่สะอาด ตัวเราก็เปรียบเสมือนเครื่องดูดฝุ่นดีๆ นี่เอง หลังจากดิฉันเรียนรู้เรื่องความสะอาด ครูบาอาจารย์ จะเน้นย้ำเรื่องความสะอาดในห้องนอนมาก ดิฉันได้มาพิจารณา ตามสติปัญญา มีความคิดเห็นว่า ห้องนอน เป็นห้องที่เราใช้พักผ่อน หลับนอนยาวนาน ดังนั้นจึงต้องสะอาดและต้องทำความสะอาดทุกวัน ห้องนอนเป็นห้องส่วนตัว เราสามารถทำธุระส่วนตัวในห้องนี้ตั้งแต่ตื่นนอน จนกระทั่งเข้านอน ซึ่งก็รวมถึง การทำสมาธิก่อนนอน และหลังจากตื่นนอน เราสามารถ บริหารเวลานอน เวลาตื่นของเราได้ เมื่อฝึกมาได้ระยะหนึ่ง ไม่น่าเชื่อเลยค่ะว่า สิ่งที่ตามมา คือ ใจจะนิ่งมากขึ้น สามารถอดทนต่อการกระทบกระทั่ง สามารถสอนตัวเองได้ในหลายๆเรื่อง ห้องนี้น่าจะเป็นห้องเพาะนิสัย
2. ห้องน้ำ ห้องต่อมา หลังจากตื่นนอน เราจะต้องเข้าห้องน้ำ เราต้องใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้อื่นในบ้าน ดังนั้น ความสะอาด ความมีระเบียบจะต้องมีค่ะ ถ้าไม่สะอาด ไม่มีระเบียบ การกระทบ กระทั่งกัน จะตามมาแน่นอนค่ะ โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงอายุ พื้นห้องน้ำต้องสะอาดและแห้งนะค่ะ เพื่อป้องกันผู้สูงอายุลื่นล้ม เป็นอันตรายมากค่ะ
3. ห้องแต่งตัว มาถึงห้องแต่งตัวค่ะ ห้องนี้ก็ต้องสะอาด และจัดข้าวของให้เป็นระเบียบ เพื่อให้เราหาของได้ง่าย เวลาต้องการใช้ ข้าวของเครื่องใช้ให้มีเท่าที่จำเป็น ชิ้นไหนหมดอายุ ต้องเคลียร์ทิ้งเลย จะได้ฝึกนิสัยตัดใจค่ะ
4. ห้องครัว มาที่ห้องครัว หรือห้องอาหาร เพื่อรับประทานอาหาร ในห้องอาหารถ้ามีการรับประทานอาหารร่วมกัน ความสุภาพ และการตรงต่อเวลา เป็นเรื่องที่จำเป็น ถ้าไม่มี 2 อย่างนี้ การกระทบกระทั่งจะเกิดตามมา การรับประทานอาหารพร้อมกันที่บ้านมีประโยชน์อย่างมาก ไม่น่าเชื่อ เนื่องจากสังคมปัจจุบัน เวลาที่สมาชิกแต่ละบ้านจะทำกิจกรรมร่วมกันหายากเต็มที ดังนั้นจงใช้เวลาช่วงนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คุณพ่อ คุณแม่ก็จะได้เจอลูกๆ ได้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงเล็กๆน้อยๆของลูก ถ้ามีสิ่งผิดปกติจะได้แก้ไขทันท่วงที ลูกๆ ก็สามารถดูแลตักอาหารให้บุพการีของเรา ช่างเป็นช่วงเวลาที่สามารถสร้างสุขให้ทุกคนในครอบครัว จงใช้เวลาในช่วงนี้ให้คุ้มค่าค่ะ
5. ห้องทำงาน หลังจากรับประทานอาหารเรียบร้อยแล้ว ถึงเวลาที่จะต้องไปทำงาน ถ้าเราอารมณ์ดีตั้งแต่ตื่นนอน จนทำกิจกรรมที่บ้านเสร็จ เชื่อมั่นว่าเราจะมีอารมณ์ดีมาจนถึงห้องทำงาน เมื่อเราอารมณ์ดี ใครๆที่พบเห็นเราก็จะอารมณ์ดีไปด้วย เราสามารถสร้างบรรยากาศในที่ทำงานให้ดี ด้วยรอยยิ้มและปิยวาจา แค่นี้ก็เชื่อว่าใจของเราจะใส เย็น รักษาอารมณ์ดี อารมณ์เดียว อารมณ์สบาย ไว้ได้ตลอดทั้งวันแล้วละค่ะ
ใครไปห้องไหนก่อนหลัง ก็จัดลำดับได้เอง ตามความสะดวกในชีวิตประจำวันเลยนะคะ แต่หลักการ คือ ทุกห้องต้องสะอาด และมีระเบียบ สิ่งเหล่านี้ เราสามารถนำมาเป็นบทฝึกในชีวิตประจำวันได้เลย แล้วอย่าลืมสังเกตใจของเราด้วยนะค่ะ หลายคนที่นำความสะอาด ความมีระเบียบไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และหมั่นสังเกตใจตนเอง จะพบว่าเมื่อเราทำควบคู่กับ การทำสมาธิก่อนนอน และหลังตื่นนอน ใจจะนิ่งและทำสมาธิได้เร็วขึ้น มีผลมาถึงอารมณ์ด้วยนะคะ ส่วนใหญ่เราจะรักษาอารมณ์ดี อารมณ์เดียว อารมณ์สบายไว้ได้ทั้งวัน หรือถ้าหงุดหงิดก็จะไม่นาน เพราะเราจะตามทันอารมณ์ได้เร็ว
เห็นไหมคะว่า การทำสมาธิ “ง่ายนิดเดียว” อย่าลืมรักษาใจของเราให้สบาย ฝึกใจของเราให้อยู่กับกิจกรรมที่เรากำลังทำ เพียงแค่นี้ก็ถือเป็นการทำสมาธิง่ายๆในชีวิตประจำวันแล้วค่ะ ท่านใดมีคำถาม หรือมีคำชี้แนะ สามารถส่งผ่านเพจนี้ได้เลยนะคะ
สามารถติดตามเราได้ในอีกช่องทาง ที่เพจ PunditSpirit นะคะ
ยังมีบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ที่เวป PunditSpirit.com
บอกเล่าเรื่องราวโดย : ไฟนิรันดร์