44 ปีแห่งการเดินทางของยาน Voyager

ในปี ค.ศ. 1964 นาซ่าได้เสนอแนวคิด โครงการแกรนด์ทัวร์ ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งยานสำรวจเพื่อทำการศึกษาดาวเคราะห์ภายนอกระบบสุริยะ และเริ่มดำเนินงานโครงการในตอนต้นยุค ค.ศ. 1970 ข้อมูลที่ได้รับจากยานสำรวจ ไพโอเนียร์ 10 ยังช่วยให้ทีมวิศวกรของยานสำรวจ วอยเอจเจอร์ Voyager สามารถออกแบบยานสำรวจเพื่อรับมือกับระดับกัมมันตรังสีที่รุนแรงของดาวพฤหัสบดีได้อีกด้วย
Voyager 1
เริ่มปฏิบัติการ : 5 กันยายน 1977
ถึงจุดหมาย : 5 มีนาคม 1979
เป้าหมาย : สำรวจชั้นบรรยากาศ สนามแม่เหล็ก ดวงจันทร์ และวงแหวนของดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์
Voyager 2
เริ่มปฏิบัติการ : 20 สิงหาคม 1977
ถึงจุดหมาย : 9 กรกฎาคม 1979
เป้าหมาย : สำรวจดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ และขยายโครงการออกไปเพื่อสำรวจดาวยูเรนัส(1981) และดาวเนปจูน(1985)
ผลงานของ วอยเอเจอร์ ในช่วง 10 ปี นับตั้งแต่ปี 1979 –1989 ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นยุคทองของการสำรวจอวกาศ ซึ่งเป็นภารกิจสำรวจดาวเคราะห์ในระบบสุริยะที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดขององค์การ นาซ่า Charley Kohlhase อดีตผู้บริหารฝ่ายออกแบบปฎิบัติการของโครงการวอยเอเจอร์ถึงกับกล่าวว่า
“เป็นทศวรรษที่ เป็นไปได้ว่าเป็นปฎิบัติการ ค้นพบเกี่ยวกับดาวเคราะห์ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติ “
ภารกิจของ วอยเอเจอร์ คือ การสำรวจดาวเคราะห์ชั้นนอก แต่วอยเอเจอร์ไม่ใช่ยานอวกาศสองลำแรกที่ไปที่นั่น ดาวเคราะห์ชั้นนอกสองดวงถูกเยี่ยมเยือนก่อนหน้าแล้วโดยยานแฝดไพโอเนียร์[Pioneer] ไพโอเนียร์ 10 ได้โคจรเข้าใกล้ดาวพฤหัสบดีในปี 1973 และไพโอเนียร์ 11 โคจรผ่านดาวพฤหัสบดีในปีต่อมาและเข้าใกล้ดาวเสาร์ในปี 1979 ตามลำดับ แต่สำหรับวอยเอเจอร์แล้วทำมากกว่านั้น ดาวเคราะห์ชั้นนอก 4 ดวง ยกเว้นดาวพลูโต คือดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน ถูกสำรวจอย่างละเอียดถี่ถ้วนที่สุด พร้อมกับดวงจันทร์อีก 48 ดวง และวงแหวนของดาวเสาร์ ภาพถ่ายทั้งหมดกว่า 60,000 ภาพ เผยให้เห็น ความหลากหลาย ความสลับซับซ้อน และความงดงามเกินกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยจินตนาการไว้ และยังเปลี่ยนแปลงความเชื่อของนักวิทยาศาสตร์หลายอย่าง
“วอยเอเจอร์ ได้ปฎิวัติความเข้าใจของเราเกี่ยวกับระบบสุริยะ และความรู้สึกที่ว่ามนุษย์สามารถทำได้สำเร็จ เมื่อให้วอยเอเจอร์ทำงานร่วมกัน ”
บรูซ เมอร์เรย์ [ Bruce . C Murray ] ผู้อำนวยการ JPL และผู้ก่อตั้งสมาคมดาวเคราะห์ [The Planetary Society] ร่วมกับคาร์ล ซาแกน กล่าวถึงความเกียรติประวัติของวอยเอเจอร์ นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ช่วงเวลาที่เหมาะเจาะที่สุดใน ปลายทศวรรษที่ 1970 และทศวรรษที่ 1980 เมื่อดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูนโคจรอยู่ในแนวเดียวกัน ปรากฎการณ์นี้จะเกิดขึ้นทุกๆ 175 ปี มันจะทำให้ ยานอวกาศสามารถสวิงตัวไปยังดาวเคราะห์อีกดวงโดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์เป็นตัวช่วย ซึ่งจะทำให้ยานใช้พลังงานและเวลาในการเดินทางน้อยลง
เดิมทียานสำรวจ วอยเอจเจอร์ 1 ก็คือยานสำรวจ “มาริเนอร์ 11” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการมาริเนอร์มาก่อน ภายหลังงบประมาณของโครงการถูกจำกัดลง ทำให้เป้าหมายของภารกิจจึงเน้นไปที่การสำรวจดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์เป็นหลัก ยานถูกเปลี่ยนชื่อเป็น มาริเนอร์ จูปิเตอร์-แซทเทิร์น (Mariner Jupiter-Saturn) แต่ภายหลังการดำเนินโครงการได้ระยะหนึ่ง มีการเปลี่ยนชื่อยานสำรวจอีกครั้งเป็น วอยเอจเจอร์ 1 เนื่องด้วยตัวยานได้ถูกออกแบบมาเพื่อทำภารกิจที่ยิ่งใหญ่กว่าโครงการมาริเนอร์
Voyager 1 ขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 20 สิงหาคม 1977 และตามด้วย Voyager 2 ในวันที่ 5 กันยายน 1977 ในเส้นทางที่เร็วกว่า เป้าหมายแรกเริ่มของปฎิบัติการนี้คือ การสำรวจดาวเคราะห์ชั้นนอกของระบบสุริยะเพียงสองดวง คือดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ รวมทั้งดวงจันทร์ขนาดใหญ่ของดาวเคราะห์ทั้งสอง โดยกำหนดเวลาสำรวจไว้ 4 ปี อย่างไรก็ดี ทีมนักวิทยาศาสตร์ก็ได้ออกแบบให้ วอยเอเจอร์ สามารถปฎิบัติภารกิจได้มากกว่านั้นด้วย นั่นคือให้ ยานวอยเอเจอร์ 2 เลยไปสำรวจ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูนโดยอาศัยแรงเหวี่ยงของดาวเสาร์ โดยยานไพโอเนียร์ 11 จะทำการทดสอบความเป็นไปได้นี้ และท้ายที่สุดให้ยานทั้งสองลำเดินทางไปยังขอบระบบสุริยะและท่องไปในแกแล็คซีทางช้างเผือก วอยเอเจอร์ 1 เดินทางถึงดาวพฤหัสบดีในเดือนมีนาคม 1979 ก่อนหน้าวอยเอเจอร์ 2 ถึง 4 เดือน โดยเข้าใกล้ดาวพฤหัสบดีที่สุดที่ระยะทาง 348,890 กิโลเมตร ภาพถ่ายจำนวน 17,477 ภาพ ได้ให้ความรู้อย่างมากมายเกี่ยวกับดาวพฤหัสบดีและดวงจันทร์ขนาดใหญ่ 4 ดวง ของกาลิเลโอ ผลงานชิ้นโบว์แดง คือการพบว่าจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดี [The Great Red Spot] นั้นมีขนาดใหญ่มากและเกิดจากพายุหมุนขนาดใหญ่หลายสิบลูกในบรรยากาศของดาวพฤหัสบดี วอยเอเจอร์ 1 ยังพบวงแหวนบางๆของดาวพฤหัสบดีอีกด้วย
แต่ผลงานที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตื่นตาตื่นใจที่สุดคือการค้นพบภูเขาไฟหลายแห่งที่กำลังคุกรุ่นอยู่บนดวงจันทร์ไอโอ [Io] การค้นพบนี้ได้เปลี่ยนแปลงความเชื่อของนักวิทยาศาสตร์ที่เคยเชื่อว่าดวงจันทร์ไอโอมีอายุเก่าแก่ และมีหลุมอุกกาบาตคล้ายบนดวงจันทร์ของโลก วอยเอเจอร์ 1 ยังเผยให้เห็นสภาพทางธรณีของดวงจันทร์ แกนิมิด[Ganymede] คัลลิสโต[Callisto] และ ยูโรปา[Europa] พื้นผิวของแกนิมิดขรุขระเป็นหลุมบ่อ คัลลิสโตมีหลุมอุกกาบาตเก่าแก่ และยูโรปามีสันเนินเตี้ยๆที่ตัดกันยุ่งเหยิงไปหมด นอกจากนั้นยังค้นพบดวงจันทร์ดวงใหม่ 3 ดวงของดาวพฤหัสอีกด้วย คือ Metis, Adrastea และ Thebe

วอยเอจเจอร์ 1 Voyager 1

เป็นยานสำรวจอวกาศ (space probe) แบบไร้คนขับซึ่งองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐหรือองค์การนาซาได้ทำการปล่อยขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1977 ภายใต้โครงการวอยเอจเจอร์ ปัจจุบันยานปฏิบัติภารกิจในอวกาศเป็นเวลา 43 ปี 6 เดือน 14 วัน (ณ วันที่ 19 มีนาคม 2021) และยังคงสื่อสารกับพื้นโลกผ่านทางเครือข่ายอวกาศห้วงลึก (DSN) เพื่อรับคำสั่งประจำและส่งข้อมูลกลับมายังโลก โดยข้อมูลระยะทางและความเร็วของยานตามเวลาจริงสามารถดูได้จากเว็บไซต์ของนาซาและห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น และด้วยระยะทางของยานสำรวจที่อยู่ไกลจากโลกราว 148.61 หน่วยดาราศาสตร์ (22.2 พันล้านกิโลเมตร, 13.8 พันล้านไมล์) ณ วันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 2020[4] ส่งผลให้ยาน วอยเอจเจอร์ 1 เป็นวัตถุที่สร้างโดยมนุษย์ที่อยู่ไกลจากโลกมากที่สุด
ปลายฤดูร้อน ปี 1977 ยานอวกาศขององค์การนาซ่าสองลำซึ่งสร้างโดย Jet Propulsion Laboratory [JPL] สถาบันเทคโนโลยี แคลิฟอร์เนียร์ ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ ณ ศูนย์อวกาศเคเนดี้ แหลมคานาเวอราล ฟลอริดา นั่นคือยานฝาแฝด วอยเอเจอร์ Voyagers
ภารกิจของยานสำรวจคือ การบินโฉบดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ และดวงจันทร์ไททัน (ดาวบริวารที่ใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์) ซึ่งต่างจากแผนการบินเดิมคือ การบินโฉบดาวพลูโตโดยการไม่ผ่านดวงจันทร์ไททัน แต่ภายหลังได้มีการปรับเปลี่ยนแผนการบินเป็นการบินโฉบดวงจันทร์ไททัน ซึ่งมีความสำคัญมากกว่า โดยพุ่งเป้าไปที่ชั้นบรรยากาศ วอยเอจเจอร์ 1 ได้ทำการสำรวจสภาพอากาศ สภาพสนามแม่เหล็ก และวงแหวนของทั้งดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ นอกจากนี้ยังเป็นยานสำรวจ ลำแรกที่ได้ถ่ายภาพเผยให้เห็นรายละเอียด ของกลุ่มดาวบริวารของดาวเคราะห์เหล่านี้อีกด้วย
ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจหลักในการบินโฉบดาวเสาร์เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1980 ยานสำรวจ วอยเอจเจอร์ 1 ได้สร้างประวัติศาสตร์ โดยเป็นวัตถุที่สร้างโดยมนุษย์ชิ้นที่ 3 (จากทั้งหมด 5 ชิ้น) ที่โคจรด้วยความเร็วมากพอจนถึงระดับความเร็วหลุดพ้นเพื่อออกจากระบบสุริยะ นอกจากนี้ในวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 2012 ยานสำรวจ วอยเอจเจอร์ 1 ยังเป็นยานอวกาศลำแรกที่ได้ข้ามผ่านอวกาศชั้นเฮลิโอพอส และเข้าสู่อวกาศชั้นมวลสารระหว่างดาว
ในปี ค.ศ. 2017 ทีมงานของวอยเอจเจอร์ประสบความสำเร็จ ในการทดลองจุดชุดเครื่องยนต์ไอพ่นที่ใช้ในการควบคุมแนวโคจร (TCM) ซึ่งไม่มีการใช้งานมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 ส่งผลให้สามารถขยายเวลาทำภารกิจของยานไปได้อีกสองถึงสามปี
คาดการณ์ว่ายานสำรวจ วอยเอจเจอร์ 1 จะยังสามารถทำภารกิจต่อไปได้จนถึงปี ค.ศ. 2025 หรือจนกว่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าด้วยความร้อนจากไอโซโทปรังสี (RTG) จะผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของอุปกรณ์ภายในยาน และหลังจากนั้นยานจะลอยเคว้งคว้างเป็นวัตถุเร่ร่อนในอวกาศ
ภายหลังปี ค.ศ. 2020 อุปกรณ์วัดทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดที่ติดตั้งบนยาน วอยเอจเจอร์ 1 เริ่มถูกปิดการทำงานทันที หรือมีการปิดการทำงานบางส่วน แล้วใช้พลังงานไฟฟ้าร่วมกันเท่าที่พลังงานไฟฟ้าที่หลงเหลืออยู่ ท้ายสุดยานจะยังคงสื่อสารกับโลกไปจนกว่าจะถึงปี ค.ศ. 2025 ที่คาดว่าจะไม่มีพลังงานไฟฟ้าหลงเหลือสำหรับยาน สุดท้ายยานจะขาดการติดต่อกับโลกไปตลอดกาลและโคจรไปในห้วงอวกาศโดยไร้การควบคุมใดๆ
ภาพสุดท้ายที่ยาน Voyager 1 ได้ถ่ายไว้ ก่อนที่กล้องของมันจะถูกปิดไปตลอดกาล ไม่ได้เป็นภาพที่สวยงามเหมือนกับหลาย ๆ ภาพที่เราเคยเห็น หรือเป็นภาพที่นักวิทยาศาสตร์สามารถนำมาศึกษาเพิ่มเติมได้มากนัก แต่ก็เป็นภาพที่ทำให้เราได้เห็นมุมมองใหม่ ๆ ของจักรวาลของเราได้
14 กุมภาพันธ์ 1990 Voyager 1 หันกล้องของมันกลับมามองระบบสุริยะของเราเป็นครั้งสุดท้าย และหนึ่งในภาพที่มันได้ถ่ายไว้นั้นแทบจะเต็มไปด้วยความว่างเปล่า กับแสงจากดวงอาทิตย์ที่ติดมา แต่มีจุด ๆ หนึ่งที่กินเนื้อที่เพียงแค่ 0.12 พิกเซลของภาพปรากฏอยู่ (ภาพมีขนาด 640,000 พิกเซล)
จุดเล็ก ๆ จุดนั้นคือโลกของเราเอง
Carl Sagan ผู้เป็นเจ้าของไอเดียการถ่ายภาพนี้ ได้เคยพูดถึงความหมายแบบลึกซึ้งของภาพถ่ายภาพนี้ที่มหาวิทยาลัย Cornell ในปี 1994 และนี่คือบางส่วนจากคำพูดของเขา
“…เมื่อคุณดูดีๆ คุณจะเห็นจุดๆ หนึ่งอยู่ จุดนั้นคือที่นี่ คือบ้าน คือพวกเรา ทุกคนที่คุยเคยรู้จัก ทุกคนที่เคยมีชีวิตอยู่ ได้ใช้ชีวิตของพวกเขาในจุดๆ นั้น จุดที่รวมทุกความสุขและทุกข์ของเรา ร้อยพันศาสนา อุดมการณ์ และหลักคำสอนด้านเศรษฐกิจ…”
“…โลกของเราเป็นเวทีเล็ก ๆ ในโรงละครของจักรวาล ลองนึกถึงเลือดที่ไหลรินดั่งสายน้ำ จากคำสั่งของบรรดานายพลและจักรพรรดิ ที่คิดว่าชัยชนะของพวกเขาจะส่งให้พวกเขากลายเป็นใหญ่ ความโหดร้ายของคนอีกกลุ่มที่กระทำต่อคนอีกกลุ่ม ความไม่ลงรอยกัน ความกระหายที่จะฆ่ากันเอง ความเกลียดชังอย่างรุนแรง และการวางตัวว่าพวกเรานั้นพิเศษกว่าใครใดอื่นในจักรวาลแห่งนี้ แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงแค่จุดเล็ก ๆ จุดนึงเท่านั้น…”
“…ไม่มีสิ่งไหนที่จะแสดงให้เห็นถึงความโง่เขลาทางความคิดของมนุษย์ไปได้ดีกว่าภาพถ่ายจากระยะไกลของโลกของเรา…”
แม้จักรวาลแห่งนี้จะกว้างใหญ่ไพศาล แต่มันก็กลับว่างเปล่า และไม่มีวี่แววว่าจะมีใครมาช่วยพวกเราได้แล้ว มีแค่พวกเราเท่านั้นที่จะช่วยเหลือดูแลกันเอง และจุดเล็ก ๆ จุดนั้น ที่อยู่ท่ามกลางท้องทะเลแห่งความมืดมิดของจักรวาล
วอยเอจเจอร์ 2 Voyager 2

คือยานสำรวจอวกาศแบบไม่มีคนบังคับที่เดินทางระหว่างดาวเคราะห์ ขึ้นสู่อวกาศเมื่อ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1977 เป็นยานสำรวจอวกาศในโครงการวอยเอจเจอร์ ซึ่งมียานพี่อีกลำหนึ่งคือยานวอยเอจเจอร์ 1
ยานวอยเอจเจอร์ 2 ถูกส่งขึ้นไปให้โคจรเป็นเส้นโค้งตามระนาบสุริยวิถี โดยเตรียมการให้สามารถเดินทางเข้าใกล้ดาวยูเรนัสและดาวเนปจูน ด้วยการอาศัยแรงเหวี่ยงจากแรงโน้มถ่วงของดาวเสาร์ซึ่งมันจะต้องเดินทางผ่านในปี ค.ศ. 1981 จากเส้นทางโค้งนี้ทำให้วอยเอจเจอร์ 2 ไม่สามารถมองเห็นดวงจันทร์ไททันในระยะใกล้ได้เหมือนกับยานวอยเอจเจอร์ 1 แต่มันก็ได้เป็นยานเพียงลำเดียวที่ได้เดินทางไปใกล้ดาวยูเรนัสกับดาวเนปจูน ซึ่งเป็นการบรรลุภารกิจของโครงการสำรวจดาวเคราะห์ครั้งใหญ่ (Planetary Grand Tour) เส้นการเดินทางนี้สามารถทำได้เพียงครั้งเดียวในรอบ 176 ปี
จากสถิติ วอยเอจเจอร์ 2 อาจเป็นยานสำรวจอวกาศที่มีประสิทธิผลมากที่สุด ด้วยผลงานคือการไปเยือนดาวเคราะห์ 4 ดวงพร้อมกับดวงจันทร์ของมัน โดยเฉพาะดาวเคราะห์ 2 ใน 4 ดวงนั้นเป็นดาวเคราะห์ที่ยังไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน บนยานติดตั้งกล้องถ่ายภาพและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูง โดยใช้งบประมาณเพียงเสี้ยวเดียวของเงินงบประมาณที่ทุ่มให้กับยานสำรวจอวกาศในชั้นหลัง เช่น ยานกาลิเลโอ ยานแคสสินี-ไฮเกนส์[5][6]
หลังจากสิ้นสุดภารกิจการสำรวจดาวเคราะห์ชั้นนอกของระบบสุริยะ ยานวอยเอจเจอร์ 2 ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจระหว่างดาวฤกษ์ เพื่อค้นหาว่าระบบสุริยะมีหน้าตาเป็นอย่างไรเมื่อมองจากภายนอกเฮลิโอสเฟียร์ เดือนตุลาคม ค.ศ. 2007 วอยเอจเจอร์ 2 ได้เดินทางออกไปยังเฮลิโอชีท ซึ่งเป็นด่านสุดท้ายของเฮลิโอสเฟียร์ก่อนจะออกไปสู่ห้วงอวกาศระหว่างดาว
26 กันยายน ค.ศ. 2008 วอยเอเจอร์ 2 อยู่ในเขตแดนไกลโพ้นของแถบหินกระจาย ที่ระยะห่างจากดวงอาทิตย์ราว 87.03 AU (13,019 ล้านกิโลเมตร) และเคลื่อนที่ห่างออกไปด้วยความเร็วประมาณ 3.28 AU ต่อปี[7] ซึ่งอยู่ไกลกว่าระยะห่างระหว่างดาวพลูโตกับดวงอาทิตย์มากกว่า 2 เท่า ไกลยิ่งกว่าจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดของเซดนา
ข้อมูล ณ วันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 2009 วอยเอจเจอร์ 2 อยู่ที่เดคลิเนชัน -53.84° และไรต์แอสเซนชัน 19.783 ชม. ในบริเวณกลุ่มดาวกล้องโทรทรรศน์เมื่อมองจากโลก ยานวอยเอจเจอร์ 2 ไม่ได้ตั้งเป้าหมายมุ่งไปยังดาวฤกษ์ดวงใดเป็นการเฉพาะ แต่มันจะเดินทางผ่านดาวซิริอุสที่ระยะห่างประมาณ 1.32 พาร์เซกในอีก 296,000 ปี ยานจะยังคงส่งสัญญาณกลับมายังโลกอย่างน้อยจนถึงปี ค.ศ. 2025 ซึ่งจะเป็นเวลากว่า 48 ปีหลังจากขึ้นสู่อวกาศ
วอยเอเจอร์ทั้งสองลำมีพลังงานที่จะใช้ได้ต่อไปอย่างน้อยที่สุดถึงปี 2020 พลังงานของวอยเอเจอร์มาจากเครื่องกำเนิดพลังงานไฟฟ้าที่เรียกว่า Redioisotope Thermoelectric Generators [RTGs] ซึ่งใช้พลูโตเนียม[Plutonium]เป็นตัวสร้างพลังงาน ในช่วงแรกที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ RTGs ให้พลังงานไฟฟ้า 470 วัตต์ จนถึงปี 2001 พลังงานไฟฟ้าของวอยเอเจอร์ 1 ลดลงเหลือ 315 วัตต์ และวอยเอเจอร์ 2 เหลือ 319 วัตต์
ดังนั้นเพื่อให้เครื่องมือทั้ง 5 อย่างปฎิบัติงานได้จนถึงปี 2020 นักวิทยาศาสตร์จะปิดอุปกรณ์บางอย่างเป็นระยะๆ เพื่อให้วอยเอเจอร์มีพลังงานไฟฟ้าเพียงพอสำหรับช่วงเวลาการสำรวจบริเวณ Termination Shock และ Heliopause หลังจากนั้นพลังงานไฟฟ้าของวอยเอเจอร์จะหมดลงและสิ้นสุดภารกิจ VIM
ต่อจากนั้น วอยเอเจอร์จะเดินทางออกนอกระบบสุริยะนักวิทยาศาสตร์คาดว่าอีกราว 40,000 ปีวอยเอเจอร์ทั้งสองลำจะเดินทางถึงเมฆอ๊อด [Oort Cloud] ถิ่นที่อยู่ของดาวหางนับล้านล้านดวง วอยเอเจอร์ 1 จะอยู่ไกล 1.6 ปีแสงจากกลุ่มดาวอูฐลายเสือ [Constellation Camelopardalis]
และอีก 250,000 ปีหลังจากนั้น วอยเอเจอร์ 2 จะเดินทางผ่าน ดาวซีริอุส[Sirius] ดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดที่ระยะทาง 4.3 ปีแสง วอยเอเจอร์จะท่องไปในแกแล็คซีทางช้างเผือก ในฐานะฑูตของชาวโลกที่นำเรื่องราวของมนุษย์ชาติและมิตรไมตรีไปยังเพื่อนร่วมแกแล็คซี
แผ่นจานทองคำ
แผ่นบันทึกเสียง และภาพสีทอง[Golden Record ]หรือ Gold –Plated Copper Disk บนวอยเอเจอร์ทั้งสองลำ ได้นำแผ่นดิสค์ทองคำ บันทึกเรื่องราวทั้งภาพและเสียงเกี่ยวกับโลกของเราติดไปบนยานด้วย โดยหวังว่าสักวันหนึ่งอาจมีสิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญาสูงในดาวดวงอื่นมาพบและแปลงสัญญานได้และจะค้นหาแหล่งกำเนิดของมัน Golden Record มีภาพทั้งสิ้น 116 ภาพ อาทิเช่น สะพานโกลเด้น เกท กำแพงเมืองจีน มนุษย์อวกาศ
สำหรับเสียงนั้น มีทั้งเสียงจากธรรมชาติและเสียงที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมา อาทิเช่น เสียงลิงซิมแปนซี เสียงรถไฟ เสียงพายุฝน นอกจากนั้นยังมีคำทักทายจากชาวโลกอีก 55 ภาษา หนึ่งในนั้น คือ จิมมี คาร์เตอร์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในสมัยนั้น มีความตอนหนึ่งว่า
“นี่คือการนำเสนอจากโลกเล็กๆที่ห่างไกล ด้วยหลักฐาน เสียง วิทยาศาสตร์ ภาพ ดนตรี ความคิด และความรู้สึก เราพยายามที่จะอยู่รอดในเวลาของเราเพื่อเราจะอยู่ในเวลาของท่าน เราหวังว่าวันหนึ่งเมื่อได้แก้ไขปัญหาที่เราเผชิญอยู่ลุล่วงแล้ว เราจะได้ร่วมในชุมชนอารยธรรมแกแล็คซี เครื่องบันทึกนี้แสดงถึงความหวังและความตั้งใจของเราและความปรารถนาดีในจักรวาลที่กว้างใหญ่ไพศาลและน่าเกรงขาม“
ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าสิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญาสูงจะมาเจอ วอยเอเจอร์ เมื่อใด บางทีมันอาจจะยาวนานจนกระทั่งดวงอาทิตย์ของเรากลายเป็นดวงยักษ์แดงและได้ทำลายสิ่งมีชีวิตบนโลกจนหมดสิ้นไปแล้วก็ได้ หรือมันไม่มีวันจะพบกับสิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญาสูงในจักรวาลเพราะมีเฉพาะโลกของเราเท่านั้น แต่ถึงอย่างไร วอยเอเจอร์ก็จะยังท่องไปในจักรวาลอีกนานแสนนาน
ขอบคุณข้อมูลและภาพ Spaceth.co |วิกิพีเดีย | atom.rmutphysics.com