Earth Day วันคุ้มครองโลก วันธรรมะคุ้มครองโลก

ประวัติตวามเป็นมา วันคุ้มครองโลก Earth Day นี้ เกย์ลอร์ด เนลสัน (Gaylord Nelson) สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ริเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 ต่อมา สมาชิกวุฒิสภาเนลสันได้ตัดสินใจ ขอให้ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ยกเรื่องสิ่งแวดล้อมขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ เคเนดีเห็นด้วย และได้ออกเดินสายทั่วประเทศ เป็นเวลา 5 วัน 11 รัฐ ในช่วงเดือนกันยายนพ.ศ. 2506 (ก่อนที่ประธานาธิบดีเคเนดีจะถูกลอบยิงเสียชีวิต) การเดินสายครั้งนั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นของการริเริ่มวันคุ้มครองโลก จนในปี พ.ศ. 2512 สมาชิกวุฒิสภาเนลสันได้ผลักดันให้มีการจัดการชุมนุมประชาชนระดับรากหญ้าทั่วประเทศขึ้น เพื่อให้แสดงความคิดเห็นในปัญหาสิ่งแวดล้อม และได้เชิญชวนให้ทุก ๆ คน ร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดกระแสความห่วงใย ในวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ของสังคมอเมริกันในขณะนั้น นำสู่ความสำเร็จของการก่อตั้งวันคุ้มครองโลกขึ้นต่อมา
วันคุ้มครองโลก Earth Day ตรงกับวันที่ 22 เมษายนของทุกปี ประกาศโดยโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (United Nations Environment Program “UNEP”) ถือกำเนิดในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2513 เพื่อปลูกฝังให้คนรัก หวงแหนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยแต่ละประเทศรวมถึงไทยมีการจัดกิจกรรมเป็นประจำทุกปี
ในประเทศไทยได้มีการจัดกิจกรรมวันคุ้มครองโลกเป็นประจำทุกปี โดยหน่วยงานต่าง ๆ เช่นกัน
สำหรับประเทศไทยเริ่มพูดถึงวันคุ้มครองโลกครั้งแรก เมื่อปี 2533 ถือเป็นการเริ่มต้นของสังคมไทยยุคเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้เริ่มจัดให้มีการรณรงค์ วันคุ้มครองโลก ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยโรงเรียนสอนภาษาสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา และในปี พ.ศ. 2533 ถือเป็นยุคเริ่มต้นของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะหลังจากสืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งกระทำอัตวินิบาตกรรม และเมื่ออาจารย์และนักศึกษาร่วมกัน 16 สถาบันได้จัดงานวันคุ้มครองโลกขึ้นเพื่อรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของป่าอนุรักษ์ และตระหนักถึงวิกฤตการทำลายสัตว์ป่าและป่าไม้ประเทศไทย ยังมีการจัดงานเพื่อหาทุนเข้ามูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อใช้ในการปกป้องรักษาผืนป่า ที่เป็นมรดกของโลกอีกด้วย
มีการจัดตั้งสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น และกำหนดให้ วันที่ 22 เมษายน ของทุกปี เป็นวันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day
โดยมีเป้าหมายการกำหนดให้ วันที่ 22 เมษายน ของทุกปี เป็นวันคุ้มครองโลก ดังต่อไปนี้คือ
1. เพื่อลดอัตราการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่อย่างหนาแน่นในบรรยากาศ
2. เพื่อกำจัดคลอโรฟลูออโรคาร์บอนซึ่งเป็นตัวทำลายสภาพโอโซนและก่อให้เกิดการสะสมความร้อนให้หมดสิ้นไป
3. เพื่ออนุรักษ์สภาพป่าที่เหลืออยู่ ทั้งที่เป็นป่าเบญจพรรณและป่าดงดิบ
4. เพื่อห้ามการซื้อ-ขายสิ่งมีชีวิตที่อาจทำให้ภาวะการเจริญพันธุ์ลดลงหรือหมดสิ้นไป
5. เพื่อคงสภาพระดับประชากรไว้ให้อยู่ในสภาพที่สมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่
6. เพื่อสร้างพลังอำนาจจากองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกให้ร่วมกันปกป้องบรรยากาศ น้ำ และสภาพอื่น ๆ ให้พ้นจากการกระทำที่มิชอบของมนุษย์
7. เพื่อสร้างสำนึกในอันที่จะรักษาโลกไว้ทั้งบุคคล ชุมชนและชาติ
พอถึงปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 ชุมชนหลายแห่งก็มี โครงการรีไซเคิล เมื่อถึงกลางคริสต์ทศวรรษ 1990 โครงการรีไซเคิลของเทศบาลเหล่านี้ก็สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยจำนวนขยะที่เทศบาลต้องนำไปทิ้งลดลงอย่างเห็นได้ชัด และกว่าร้อยละ 20 ของขยะในเขตเทศบาลของอเมริกาได้ถูกนำไปแปรรูปให้กลาย เป็นผลผลิตที่มีประโยชน์ บริษัทห้างร้านต่างๆ ซึ่งเริ่มตระหนักมากขึ้นในความต้องการของผู้บริโภคแล ะผลกำไรที่จะได้รับในตอนท้าย มักโฆษณาผลิตภัณฑ์ของตนว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีหลายบริษัทที่ใช้วิธีการผลิตที่เพิ่มประสิทธิภาพและลดจำนวนกากของเสียจากอุตสาหกรรมลงด้วย
ทำให้ต่อมาได้มีบทบัญญัติที่บังคับให้รถยนต์ต้องใช้น้ำมันไร้สารตะกั่ว และวิ่งได้ระยะทางอย่างน้อยเท่าที่กฎหมายกำหนดต่อน้ำมันหนึ่งแกลลอน ตลอดจนมีเครื่องฟอกไอเสียที่ช่วยลดปริมาณควันพิษที่ปล่อยออกจากท่อไอเสียรถยนต์ ตามครัวเรือนนั้น ชาวอเมริกันเริ่มแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิล โดยบ่อยครั้งที่ลูกๆ มักเป็นคนเตือนพ่อแม่ให้ทำเช่นนั้น
ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้เลยว่า นับวันโลกของเราเริ่มประสบกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และมนุษย์ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมากขึ้น เห็นได้จากการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ มลพิษ โดยเฉพาะปัญหาการเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก หรือ Green House Effect ที่ทำให้โลกร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว จนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในหลาย ๆ ด้าน
เราทุกคนควรรวมมือกัน ให้ความสำคัญ วันคุ้มครองโลก หรือวัน Earth Day เป็นโอกาสอันดีที่คนทั่วโลกจะพร้อมใจกันทำประโยชน์ เพื่อรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกัน และให้โลกของเราคงอยู่ด้วยอากาศที่บริสุทธิ์และสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อไป
กิจกรรมที่ปฏิบัติในวันคุ้มครองโลก
ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานทั่วโลกที่เห็นความสำคัญของวันคุ้มครองโลกมากขึ้น จึงได้ร่วมกันรณรงค์และจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ทุกคนตระหนักถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น
1. ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ทั่วทุกหนทุกแห่ง โดยเฉพาะแถบแอฟริกา เคนยา ไนจีเรีย และนามิเบีย เป็นต้น
2. อนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่เหลืออยู่ในเมือง หมู่บ้าน และภูเขา
3. รณรงค์ให้มีการอนุรักษ์ป่าธรรมชาติ เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า
4. เน้นการคุมกำเนิด เพื่อให้จำนวนประชากรได้คงอยู่ในระดับคงเดิม
5. ให้การศึกษาแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
6. ร่วมกันรักษาความสะอาดตามถนนหนทาง ชายหาด อุทยาน และสถานที่สาธารณะต่าง ๆ
7. รณรงค์ให้มีการคัดแยกขยะในแต่ละครัวเรือน เพื่อนำไปรีไซเคิล หรือนำกลับมาใช้ซ้ำ เป็นการลดปริมาณขยะ
วันธรรมะคุ้มครองโลก
ทางองค์กรยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (ยพสล.) ก็ใหความสำคัญกับวันนี้เช่นกัน จึงมีมติให้วันที่ 22 เมษายนของทุกปีเป็น “วันธรรมะคุ้มครองโลก” ภายใต้คำขวัญ “Clean The World, Clean The Mind” เพราะทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมที่ทรงคุณค่าที่สุด คือ ใจของมนุษย์ ควรได้รับการคุ้มครองรักษาให้สะอาดบริสุทธิ์ เพราะเชื่อว่าสังคมจะสงบร่มเย็นได้ ต้องเริ่มที่ใจสงบก่อน
ธรรมคุ้มครองโลก ธรรม 2 ประการ ได้แก่
1. หิริ หิริ (อ่านว่า หิ-ริ, หิ-หริ) แปลว่า ความละอายแก่ใจ ความละอายต่อบาป หิริ หมายถึงความละอายใจตัวเองต่อการทำความชั่วความผิด ต่อการประพฤติทุจริตทั้งหลายและความละอายใจตัวเองที่จะละเว้นไม่ทำความดีซึ่งควรจะทำให้เกิดมีในตน เช่นบิดามารดามีความละอายใจที่จะไม่ดูแลบุตรของตน เช่นนี้เรียกว่ามีหิริ หิริ เกิดขึ้นได้ด้วยการคิดถึงการศึกษา ฐานะ ยศศักดิ์ ชาติตระกูลของตน คิดถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น รวมกับความแกล้วกล้าของจิตใจที่จะไม่ทำชั่วเช่นนั้น หิริ เป็นธรรมรักษาคุ้มครองโลก ทำให้โลกเกิดสันติ ทำให้คนเราอยู่กันอย่างสงบสุข เพราะคนที่มีหิริจะเกลียดความชั่ว และละอายที่จะทำความชั่วทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทำให้ไม่ก่อความเดือดร้อนให้แก่โลกและสรรพสัตว์ทั้งปวง
2. โอตตัปปะ โอตตัปปะ (อ่านว่า โอดตับปะ) แปลว่า ความเกรงกลัว หมายถึงความสะดุ้งกลัวต่อผลของความชั่ว ต่อผลของความทุจริตที่ทำไว้ โอตตัปปะ เป็นอาการของจิตที่หวั่นไหวเมื่อจะทำความชั่ว เพราะกลัวความผิดที่จะตามให้ผลในภายหลัง เกิดขึ้นได้เพราะคิดถึงโทษหรือความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นจากการทำชั่ว จากการประพฤติทุจริตของตน เช่น ตัวเองเองต้องเดือดร้อน เกิดความเสียหาย เสียทรัพย์สินเงินทอง เสียอิสรภาพ หรือถูกคนอื่นตำหนิติเตียน ถูกสังคมรังเกียจ เป็นต้น โอตตัปปะ เป็นธรรมคุ้มครองโลกคู่กับหิริ เพราะคนที่มีโอตตัปปะย่อมกลัวที่จะทำความผิด ทำให้งดเว้นจากการประพฤติต่างๆ ได้ อันเป็นเหตุให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข เกิดสันติภาพขึ้น
องค์กรพุทธทั้งหลายทั่วโลกจัดกิจกรรม เพื่อการประพฤติปฏิบัติธรรม ทำบุญวันคุ้มครองโลก ตักบาตร, นั่งสมาธิ โดยเฉพาะการ นั่งสมาธิ นำเอาความสงบในใจ ให้เป็นความสันติสุขของโลกภายนอก
พุทธบริษัท 4 จากทั่วโลกได้มารวมกันปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส ด้วยการประกอบ บุญกิริยาวัตถุ 3 คือ ทาน ศีล ภาวนา กลั่นกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ ไม่เบียดเบียนใคร เพื่อให้โลกพบกับสันติภาพ และความสุขสงบที่แท้จริง นอกจากนี้ การปฏิบัติเจริญสมาธิภาวนาเพื่อให้เข้าถึงสันติสุขภายใน ยังสามารถขยายความสุขอันเกิดจากธรรมะไปสู่ใจของชาวโลก
ที่มา : ทุ่งสง ดอทคอม ,วิกิพีเดีย,สนุก! พีเดีย