ปัญญา ขันติ สติ สมาธิ จน เรื่องเล่า กัลยาณมิตร บัณฑิตชมรมพุทธ

คนจนในโลกนี้มี 2 ประเภท คือ จน เพราะไม่มี กับ จน เพราะไม่พอ คนบางคนเกิดมาเป็นคนจนตลอดชีวิต เพราะทั้งชีวิตไม่เคยรู้จักกับคำว่า “พอ” ต่อให้มีทรัพย์สมบัติมากมายที่สุดในโลก ก็ได้ชื่อว่าเป็นคนจน เพราะไม่มีทรัพย์สมบัติใดๆ ในโลก สามารถถมลงในบ่อ ของคนที่ไม่รู้จักพอให้เต็มได้
ส่วนบางคนจนเพราะไม่มี ก็มีอีก 2 ประเภท คือ ไม่มีเหมือนเขา กับ ไม่มีเพียงพอสำหรับดำรงชีวิต และโดยส่วนใหญ่ คนที่รู้สึกว่า จน ก็อยู่ในประเภทแรก คืออยากมีเหมือนเขา ก็เลยต้องดิ้นรนขวนขวาย เพื่อจะได้มีเหมือนเขา คนจนประเภทที่มีไม่พอสำหรับดำรงชีวิต ในโลกนี้เทียบสัดส่วนแล้วมีน้อยกว่ามากๆ เช่น คนจรจัด คนไร้บ้าน คนอยากทำงานแต่ไม่มีงานทำ เป็นต้น
และคนจน ก็ไม่ใช่คนที่ทุกข์ที่สุดในโลก เพราะคนบางคนไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรเลย แค่มีอาหารกิน มีที่พักอาศัย มีเสื้อผ้าใส่ ไม่เจ็บป่วย ชีวิตก็มีความสุขแล้วในระดับหนึ่ง
คนที่ทุกข์ที่สุด ตามคำของพระบรมศาสดาคือ คนที่เป็นหนี้ ตามพระคาถาที่ว่า …
“อิณา ทานัง ทุกขัง โลเก” …. การเป็นหนี้ เป็นทุกข์ในโลก
เราจึงเห็นเจ้าของธุรกิจฆ่าตัวตาย เพราะเป็นหนี้ ลูกหนี้ฆ่าตัวตาย เพื่อหนีหนี้ แต่เราไม่เคยเห็นคนจรจัดฆ่าตัวตาย เพราะไม่มีจะกิน หรือเพราะไม่มีบ้านอยู่
นั่นแสดงว่า ความทุกข์จากการเป็นหนี้ บีบคั้นจิตใจมากกว่าการขาดแคลนปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต
ขึ้นชื่อว่าเป็นคนจน ไม่ว่าจะถูกนิยามโดยใคร แต่ตราบใดที่ไม่มีหนี้ นั่นก็ถือว่ามีความสุขมากกว่าคนเป็นหนี้แล้ว
เป็นคนจนเพราะไม่มี ยังดีกว่าเป็นคนจน เพราะอยากมีเท่าเขา หรือจนเพราะมีไม่พอ เพราะถ้าจนจริง จะไม่มีใครกล้าให้ยืมเงินก็จะไม่มีหนี้ แต่หากจนไม่จริง (ยังพอมีเครดิต) เมื่อใดที่หันไปสร้างหนี้ เพราะอยากมีเท่าเขา ก็จะกลายเป็นคนจนที่มีทุกข์ทันที
อย่าเสียใจที่เกิดมาจน นั่นเพราะอดีตชาติประมาทไม่รู้จักทำทานมาเอง หากชาตินี้ไม่รู้จักให้ทานอีก ก็จะจนต่อไปอีกหลายชาติ และหากไม่มีปัญญา ก็จะไปก่อหนี้ ก็จะกลายเป็นคนจนที่ทุกข์ที่สุดในโลก เมื่อมีทุกข์ ใจก็จะหมองหม่น มักคิดไม่ดี มักพูดไม่ดี มักทำไม่ดี ก็จะมีวิบากกรรมนำไปสู่อบาย
สรุปว่า ความจนนั้นยังไม่ทุกข์เท่าไหร่ แต่ถ้าจนแล้วไม่มีปัญญา ไปกู้หนี้ยืมสินเพื่ออยากให้มีเท่าเขา ก็จะเป็นคนจนที่ทุกข์ที่สุดจริงๆ
ขอขอบคุณผู้เขียน Cr.Somchet Mhin Jearanaisil
ข้อแนะนำวิธีขจัดความขี้เกียจ
โยมถาม
เราจะขจัดความขี้เกียจออกไปได้อย่างไรคะ…?
ต้องพิจารณาให้ชัดเจนก่อนว่า ถ้าเราขยันแล้วจะมีข้อดีอย่างไร ขอให้ลงมือเขียนออกมาให้ชัดเจนเป็นข้อๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจว่าเราจะขี้เกียจไม่ได้แล้ว เราจะเอาจริงแล้ว เราจะขยันแล้ว
ข้อต่อมาคือต้องอยู่ใกล้คนขยัน เราก็มีแนวโน้มจะขยันตามเขาไปด้วย ไม่นำพาตนเองไปเข้ากลุ่มคนขี้เกียจ จากนั้นให้ใช้พลังหมู่เสริมพลังเดี่ยว
เคยสังเกตไหมว่าถ้าให้เรานั่งดูหนังสือคนเดียวที่บ้านวันหนึ่ง 7-8 ชั่วโมง มีน้อยคนที่จะทำได้ แต่พอเราไปโรงเรียน เข้าเรียนตั้งแต่ 8 โมงเช้า เรียนไปทีละชั่วโมงๆ เด็กส่วนใหญ่ก็ทำกันได้ เพราะเพื่อนๆ ใครๆ เขาก็เรียนกัน นี่คือพลังหมู่เสริมพลังเดี่ยว
แล้วอย่าลืมจัดเวลาในแต่ละวันให้เป็นระเบียบเรียบร้อย แบ่งเวลาทำงานให้ดี ตั้งใจให้มากในช่วงแรก พอทำได้ซ้ำๆ ผ่านไปสัก 7 วัน ทุกอย่างจะดีขึ้นเอง เพราะเราจะค่อยๆ คุ้นเคยจนเป็นนิสัยที่ดีติดตัว
ยกย่องขันติ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า เว้นจากปัญญาแล้ว พระองค์ทรงยกย่องขันติว่าเป็นเลิศ ทำไมพระองค์จึงยกย่องขันติว่าสำคัญขนาดนั้น
พระอาจารย์
เราลองนึกดู ถ้าเรามีแก้วสวยมากงดงามมากแต่ว่าเปราะบีบแรงหน่อยแตกเลย ได้แต่ตั้งไว้โชว์ ใช้ไม่ได้ ประโยชน์ก็น้อย คนเราเหมือนกันต่อให้เก่งแสนเก่งเท่าไหร่ถ้าเป็นคนไม่มีขันติไม่มีความอดทน
ใครพูดอะไรไม่ถูกหูหน่อยงอนน้อยใจเลิกละไม่ทำเลิกละหรือว่าไม่มีความอดทนต่ออำนาจกิเลสมีใครชวนนิดเดียวไปกินเหล้าเมายาไปติดยาเสพติด ต่อให้เป็นคนฉลาดเท่าไหร่ก็เอาความรู้ความสามารถมาใช้ได้ไม่เต็มที่
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องว่า เว้นจากปัญญาแล้วขันติเป็นเลิศ เราจะประสบความสำเร็จในชีวิตต้องอดแล้วก็ทน
เจริญพร
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ
พละ 5 เป็นหลักธรรม ให้เรามีพลัง ทำกิจการงานให้สำเร็จ
ประกอบด้วย ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
1. ศรัทธาพละ : ความเชื่อ ความศรัทธา
กำลังในการควบคุม ความวิตก สงสัย ต่างๆ
เมื่อเรามีความศรัทธาในสิ่งใด
เราก็จะมีฉันทะ และความเพียรตามมา
เห็นประโยชน์ในสิ่งที่ทำ
และทำภารกิจนั้นให้สำเร็จ
2. วิริยะพละ : กำลังควบคุมความเกียจคร้าน
เรามีความเพียร บากบั่น
ไม่ย่อทัอในกิจการงาน
ถ้าขาดวิริยะแล้วจะไม่สำเร็จ
บุญวาสนาของเรา ไม่รู้มีมากหรือน้อย
แต่วิริยะเราสร้างได้
เพียรละอกุศล
เพียรระวังไม่ให้อกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
เพียรบำเพ็ญกุศล
เพียรรักษากุศลที่เกิดแล้วให้คงอยู่ เจริญยิ่งขึ้น
3. สติพละ : ความระลึกได้ ไม่เผลอ
มีความระลึกรู้ ความรู้ตัวตลอดเวลา
ผู้มีสติย่อมมีความสุข ไม่ต้องสติสูงส่ง
ใช้แค่มีสติ รู้จักยับยั้งชั่งใจ
(ยับยั้งไว้แล้ว จึงชั่งใจว่าจะทำอย่างไร)
สติระดับสูง ก็มี สติปัฏฐาน
สติเป็นกำลังสำคัญของการทำกุศลและอกุศล
เจริญสติแล้วได้สมาธิ
ทำสมถะหรือวิปัสสนาจะได้สมาธิและปัญญา
4. สมาธิพละ : กำลังในการควบคุมความฟุ้งซ่าน
เมื่อเรามีจิตตั้งมั่น มีสมาธิ
การงานนั้นก็สำเร็จด้วยดี สำเร็จเร็ว
5. ปัญญา : ความรอบรู้
ปัญญาเป็นไปเพื่อรู้เห็นการเกิดและการดับ
ของสังขารทั้งหลาย
สิ่งที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นแล้วไม่เป็นโทษ ไม่มี
สิ่งที่เกิดแล้วไม่ดับ ไม่มี
ปัญญาทำให้รู้สิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง
และเป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ
.
.
พละ 5.. ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
สติ อยู่ตรงกลางเป็นตัวกำกับ ให้มีความสมดุลย์
ขอขอบคุณข้อมูล : กัลยาณมิตร, รอยธรรม ช่อง True 111
ติดตามข้อมูลข่าวสารของเราได้ที่ : PunditSpirit.com
ศึกษาธรรมะ สมาธิ เจริญปัญญา :https://punditspirit.com/category/meditation/
เทคนิคเบื้องต้นในการทำสมาธิ
- หลับตาเบาๆ ผนังตาปิด 90%
- อย่าบังคับใจ เพียงตั้งสติ วางใจเบาๆ ณ ศูนย์กลางกาย กำหนดนิมิตเป็น ดวงแก้วใสๆ…เบาๆ
หรือ องค์พระใสๆ…เบาๆ หรือ ลมหายใจ เข้า-ออก…เบาๆ
หรือ อาการท้อง พอง-ยุบ…เบาๆ เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง - กำหนดนิมิต นึกนิมิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นกุศโลบายล่อใจให้เข้ามาตั้งมั่นในกาย
- เมื่อใจเข้ามาหยุดนิ่งในกาย การกำหนดนิมิตก็หยุดโดยอัตโนมัติ
- รับรู้การเปลี่ยนแปลงภายในกายและจิตใจ ด้วยความสงบ
- ปฎิบัติแล้วมีประสบการณ์ มีข้อสงสัยถามพระอาจารย์ที่มีประสบการณ์มาก่อน