ตักบาตร ประเพณีที่ชาวพุทธปฏิบัติสืบทอดกันมา

ตักบาตร ประเพณีที่ชาวพุทธปฏิบัติสืบทอดกันมา

ความหมายการ ตักบาตร

การ ตักบาตร คือประเพณีอย่างหนึ่งที่ชาวพุทธปฏิบัติกันมาแต่สมัยพุทธกาล พระภิกษุจะถือบาตร ออกบิณฑบาต เพื่อรับอาหารหรือทานอื่นๆ ตามหมู่บ้านในเวลาเช้า ผู้คนที่ออกมา ตักบาตร จะนำของทำทานต่างๆ เช่น ข้าว อาหารแห้ง มาถวายพระ

ประเพณีนี้ชาวพุทธ ถือกันว่าเป็นการสร้างกุศล และถือว่าเป็นการแผ่ส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย โดยเชื่อกันว่า อาหารที่ถวายไปนั้น จะส่งถึงญาติผู้ล่วงลับอีกด้วย

ตักบาตรเป็นลักษณะ ของกิริยาตักข้าวใส่ลงในบาตร แต่หลัง ๆ มีคำว่า ใส่บาตร ขึ้นมา เรียกตามกิริยาที่เราเอาอาหารถุง ใส่บาตรโดยไม่ต้องตัก ก็เลยใช้คำว่า ใส่บาตร แทน ทั้งคำว่า ตักบาตร และ ใส่บาตร ใช้ได้ทั้ง ๒ คำ เพราะ เราเข้าใจตรงกันว่าเป็นการนำอาหารไปถวายในบาตร พระที่ท่านมาบิณฑบาตตอนเช้า

บาตรเป็นภาชนะจำเป็นของพระภิกษุจะขาดเสียมิได้ นับเข้าในจำนวนบริขารอย่างหนึ่งในบริขาร 8 ตามปกติพระจะไปอยู่ที่ใด ต้องมีบาตรประจำตัวไปด้วย และการออกบิณฑบาตก็ออกในเวลาเช้า ตามแบบอย่างที่พระพุทธเจ้าองค์ ทรงบำเพ็ญเป็นพุทธกิจประจำวัน

วัตถุประสงค์การตักบาตร

1. เป็นการเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการทำบุญ เพราะการสั่งสมบุญเป็นเหตุนำความสุขมาให้.
2. ส่งเสริมสถาบันครอบครัว ให้ พ่อแม่ ลูก มีกิจกรรมที่สร้างความอบอุ่น โดยมาทำบุญใหญ่ร่วมกัน ปลูกฝังศีลธรรมให้กับ เยาวชน และ ประชาชนทั่วไป.
3. เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า.
4. การตักบาตรเป็นการถวายกำลังแก่พระภิกษุในการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ถ้าญาติโยมใส่บาตร พระก็จะมีอาหารมาบำรุงหล่อเลี้ยงร่างกายให้มีกำลังในการบำเพ็ญสมณธรรมต่อไป.
5. เพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ส่งเสริมวัฒนธรรมชาวพุทธให้เข้มแข็ง สืบสานอริยะประเพณี การตักบาตร ให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป.

ที่มาการตักบาตร

การทำบุญตักบาตรนี้มีมาแต่ครั้งพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์ทรงผนวชใหม่ ๆ ยังไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงประทับที่สวนมะม่วง พระองค์เสด็จบิณฑบาตผ่าน กรุงราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ ชาวเมืองเห็นพระมาบิณฑบาตก็ชวนกันนำอาหารมาตักบาตรเป็นครั้งแรก นับแต่นั้นมาการตักบาตรจึงถือเป็นประเพณีมาจนบัดนี้ และเมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ใหม่ ๆ ประทับอยู่ที่ควงไม้เกด มีพ่อค้า ๒ คน นำข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง ซึ่งเป็นเสบียงสำหรับเดินทางเข้าไปถวาย พระพุทธองค์ทรงรับไว้ด้วยบาตร นี่ก็เป็นที่มาของการตักบาตรทางพระพุทธศาสนาด้วยประการหนึ่ง

ทำบุญตักบาตร ให้ได้ บุญที่แท้จริง มีองค์ประกอบดังนี้

1. การเตรียมใจ

เบื้องต้นของการตักบาตร ต้องเตรียมใจให้ผ่องใสเป็นกุศล เปี่ยมด้วยความเต็มใจ บุญจะได้บังเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มคิด ขณะทำก็ไม่นึกเสียดาย ให้มีใจเป็นสุข หลังจากให้ไปแล้วก็ปลื้มปีติยินดีในทานนั้น ไม่นึกเสียดายในภายหลัง บุญกุศลจึงจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเตรียมใจให้พร้อม ข้อนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะ บุญที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ใจของผู้ถวาย แนะนำให้รักษาเจตนาให้บริสุทธิ์ทั้ง ๓ ขณะ คือ
๑. ก่อนถวาย ตั้งใจเสียสละอย่างแท้จริง
๒. ขณะถวาย ก็มีใจเลื่อมใส ถวายด้วยความเคารพ
๓. หลังจากถวายแล้ว ต้องยินดีในทานของตัวเองจิตใจเบิกบานเมื่อนึกถึงทานที่ตนเองได้ถวายไปแล้ว การทำใจให้ได้ทั้ง ๓ ขณะดังกล่าวนี้ นับว่ายากมาก เพราะมีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่อาจทำให้จิตใจของเราเศร้าหมองในขณะใดขณะหนึ่งได้

2. อาหารที่ ใส่บาตร

ในการเตรียมของตักบาตร เช่น ข้าวสารอาหารแห้งหรือคาวหวาน ถ้าของสดพึงระวังอย่าให้ข้าวและอาหารนั้น ๆ ร้อนหรือเย็นจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดความลำบากแก่พระภิกษุหรือสามเณร ที่ต้องอุ้มบาตรต่อไปในระยะทางไกล

สิ่งของที่ถวาย จะต้องได้มาด้วยวิธีที่สุจริต ไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน และที่สำคัญคือสิ่งนั้นต้องเหมาะสมแก่พระภิกษุสามเณรด้วย

1. สิ่งที่จะนำมาใส่บาตร เป็นสิ่งของที่เป็นกับปิยะ เช่น ควรเป็นอาหาร เพื่อให้พระฉันได้ เช่น ข้าวสุก กับข้าวที่ปรุงสุกแล้ว อาหารที่ใส่ควรเป็นอาหารที่มีประโชน์ต่อร่างกาย

2. ห้ามตักบาตรด้วยเนื้อสัตว์ที่ต้องห้ามตามหลักศาสนาพุทธ เรียกว่า มังสัง 10 อย่าง ได้แก่ มนุษย์ ช้าง ม้า สุนัข งู ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี และเสือดาว

ถ้าอยากตักบาตรให้ได้บุญ ต้องถวายอาหารที่ปรุงจากอาหารสดในฤดูกาล ไม่ใช้น้ำมันปรุงอาหารมาก ถ้าจะซื้อที่ปรุงสำเร็จรูปแล้ว ต้องเลือกกับข้าวที่ไม่มัน มีผัดหนึ่งอย่าง ควรเลือกต้มจืดอีกสักอย่าง อาหารผัดมีน้ำมันแล้ว ต้มจืดจะมีไขมันน้อยหน่อย ผักน้ำพริกเป็นอาหารที่มีประโยชน์และอร่อยด้วย แต่ไม่ค่อยมีคนใส่บาตร

นอกจากอาหารคาว ควรถวายผลไม้และเครื่องดื่มด้วย กล้วยไข่ไม่ช้ำง่าย เก็บไว้ได้นานกว่ากล้วยหอม กล้วยน้ำว้า ถ้าจะใช้ผลไม้อื่น ๆ ต้องให้พระท่านฉันได้ง่าย ๆ และไม่ค่อยช้ำ นม โยเกิร์ต เต้าหู้ นมถั่วเหลือง มีบรรจุกล่องขายสำหรับดื่มได้ในหนึ่งมื้อเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์มาก และปลอดภัยจากเชื้อโรค เป็นแหล่งโปรตีนสูง มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวช่วยลดโคเลสเตอรอลได้

3. วิธีในการปฏิบัติตัวในการตักบาตร

1. ในขณะที่รอตักบาตรนั้น ให้ทำจิตใจให้เป็นบริสุทธิ์ ไม่ควรที่จะนำเรื่องทุกข์ใจมาคิดมากในตอนนั้น

2. ในขณะที่รอตักบาตรนั้น ให้ตั้งใจว่าจะตักบาตรแด่พระสงฆ์ สามเณร รูปใดก็ได้ ไม่จำเพาะเจาะจงรูปใดรูปหนึ่ง หรือถูกใจใส่รูปนี้ ไม่ใส่รูปนั้น การไม่จำเพาะเจาะจง เรียกว่า “สังฆทาน” พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่ามีผลมาก

3. บุญที่มีอานิสงส์มาก จิตใจของผู้ให้ทานต้องเบิกบาน ยินดีในทานที่ให้ ทั้งก่อนทำ ขณะทำ และหลังทำ ฉะนั้นระหว่างรอตักบาตร ไม่ควรคิดฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่น ควรมีใจจดจ่อกับทานที่กำลังจักให้

4. ไม่ควรใส่หมวก ผ้ามัดเอว ผ้าโพกหัว

5. ไม่ควรถือพร้า ค้อน หรืออาวุธอื่น ๆ ถ้ามีควรวาง หรือเก็บไว้ที่อื่นก่อน

6. แต่งกายให้สุภาพ เรียบร้อย ผู้หญิงควรสวมใส่เสื้อผ้ามิดชิด คอเสื้อไม่คว้านลึก และบางจนเกินไป

4. วิธีการตักบาตร

การตักบาตร โดยทั่วไป

ผู้คนที่นำของที่เอามา ตักบาตร จะยืนรออยู่ตรงทางที่พระภิกษุเดินผ่าน ส่วนมากของที่ผู้คนใช้นิยม ตักบาตร เป็นหลักคือข้าว โดยก่อนที่พระภิกษุเดินทางมาถึง จะมีการนำถ้วยข้าวจบที่ศีรษะ แล้วอธิษฐาน คือ ยกขึ้นสูงระดับหน้าผาก ด้วยท่าประนมมือโดยอนุโลม อธิษฐานตั้งความปรารถนา เพื่อทำกิเลสให้ลดน้อยลงจนถึงหมดสิ้นไป

เมื่อพระภิกษุเดินทางมาถึง พระภิกษุจะหยุดยืนอยู่ตรงหน้า คนที่จะ ตักบาตร แล้วเปิดฝาบาตร ก่อนที่จะ ตักบาตร คนที่ ตักบาตร จะต้องถอดรองเท้าก่อน ขณะ ตักบาตร ควรถอดรองเท้าเพื่อเป็นการให้ความเคารพแด่พระสงฆ์

จากนั้นคนที่ตักบาตร จะนำทานที่ตนมีถวายพระ เมื่อให้เสร็จแล้วพระจะให้พร คนที่ตักบาตร ประนมมือรับพร (โดยปกติแล้วจะนิยมคุกเข่าหรือนั่งยองๆ ประนมมือ ซึ่งผิดตามพระธรรมวินัย เพราะจะทำให้พระอาบัติ) ขณะที่ให้พรคนที่ตักบาตร อาจจะมีการ กรวดน้ำ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับ (การ กรวดน้ำ นั้นอาจจะทำขณะที่พระให้พรหรือหลังจาก การตักบาตร เสร็จสิ้นก็ได้) หลังจากที่พระภิกษุให้พรแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี

การตักบาตร ในวันพระ

ในวันพระ ทุกขึ้น/แรม 8/15ค่ำ โดยทั่วไปพระภิกษุจะไม่มีการออกบิณฑบาต ผู้คนจะนำทานไปถวายที่วัด และวันนั้นพระภิกษุจะมีการเทศนาธรรมที่วัด โดยคตินิยมการเข้าวัดทำบุญนั้นน่าจะมีมาแต่สมัยพุทธกาลที่ชาวพุทธไปวัดเพื่อรับฟังพระธรรมเทศนา และถืออุโบสถศีล ในอดีตการไปทำบุญตักบาตรที่วัดวันพระนับว่าเป็นการไปพบปะเพื่อนฝูงญาติมิตรและแสดงออกถึงความสามัคคีของคนในชุมชนที่ได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งในปัจจุบันยังพอหาพบได้บางตามหมู่บ้านในแถบชนบท

ในเมืองใหญ่ ๆ ที่มีความเร่งรีบเช่นกรุงเทพ บางวัดจะมีการเทศนาที่วัดอย่างเดียวโดยไม่มีการจัดทำบุญ ตักบาตร ส่วนพระสงฆ์จะออกเดินบิณฑบาตเพื่อโปรดชาวพุทธตามปกติ

5. คำอธิษฐานก่อนและหลังตักบาตร

คำกล่าวก่อนตักบาตร

ยกอาหารขึ้นเหนือศีรษะแล้วกล่าวว่า

“สุทินนัง วะตะเม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง โหตุ”
ทานที่ข้าพเจ้าถวายดีแล้วนี้ จงเป็นเครื่องนำมาซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวะกิเลสเถิด

หรือจะกล่าวเป็นภาษาไทยง่าย ๆ คือ “ข้าวขาวเหมือนดอกบัวยกขึ้นทูนหัวตั้งจิตจำนง ตักบาตร พระสงฆ์ขอให้ทันพระศรีอารย์ (นี้ตั้งความปรารถนาพบพระพุทธเจ้าพระองค์หน้า) ขอให้พบดวงแก้วขอให้แคล้วบ่วงมาร ขอให้บรรลุนิพพานในอนาคตกาลเทอญ”

คำกล่าวหลัง ตักบาตร

” นัตถิเม สะระนัง อัญยัง สังโฆเม สะระณังวะรัง
เอเตนะสัจจะวัชเชนะ โสตถิเม โหตุ สัพพะทา “

สรณะอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระสงฆ์เป็นสาระณะอันประเสริฐของข้าพเจ้า
ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ขอให้ข้าพเจ้าเจริญในพระศาสนาของพระศาสดา

คำกรวดน้ำหลัง ตักบาตร สั้น ๆ

กรวดน้ำหลัง ตักบาตร หรือทำบุญ!!! ชาวพุทธโชคดีที่พระพุทธศาสนาสอนวิธีทำบุญและอุทิศบุญ โดยเฉพาะกับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้

” อิทัง เม ญาตินัง โหตุ สุขิตา โหตุ ญาตะโย “

ขอบุญทั้งหลายจงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอให้ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าจงเป็นสุขเป็นสุขเถิด ขอบุญทั้งหลายให้แก่คู่กรรมคู่เวรของข้่าพเจ้า ที่ข้าพเจ้าได้ล่วงเกินท่านทั้งหลาย ตั้งแต่อดีตชาติถึงปัจจุบันชาติ ท่านจะอยู่ภพใดภูมิใดก็ตาม ขอให้ท่านมารับแล้วอโหสิกรรมอดโทษให้แก่ข้าพเจ้า ไม่ตามจองล้างจองผลาญจองเวร ซึ่งกันและกันตลอดไป และอนุโมทนาบุญกลับมาหาข้าพเจ้าด้วยอำนาจบุญนี้ด้วยเถิด

ตัวอย่าง ประโยชน์ที่ได้รับ อานิสงส์ของการ ตักบาตร “ กากวฬิยเศรษฐี ”

ในกรุงราชคฤห์ มีคนเข็ญใจคนหนึ่งชื่อว่า กากวฬิยะ อาศัยอยู่กับภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก อดมื้อกินมื้อ มีอาชีพรับจ้างเพื่อแลกกับอาหารไปวันๆ แต่ทั้งสองเป็นผู้มีจิตใจงดงาม และพอมีบุญเก่าอยู่บ้าง

วันหนึ่ง พระมหากัสสปเถระ ออกจากนิโรธสมาบัติ เห็นภรรยาผู้มีจิตใจงดงามของนายกากวฬิยะเข้ามาในญาณทัสสนะอันบริสุทธิ์ จึงออกบิณฑบาตไปโปรด โดยยืนที่หน้าประตูบ้านของ กากวฬิยะ เมื่อภรรยาของเขาเห็นพระเถระมาโปรด นางเกิดความเลื่อมใส จึงถวายข้าวยาคูกับนํ้าผักดองที่เตรียมไว้ให้สามีใส่ลงในบาตรของ พระเถระ จนหมด ฝ่าย กากวฬิยะ เห็นภรรยาถวายข้าวยาคูแด่พระเถระจนหมด ก็อนุโมทนาด้วยความปีติเลื่อมใสใน พระเถระ เช่นกัน

พระเถระ รับแล้ว นำกลับไปวิหาร ท่านได้น้อมถวายบิณฑบาตแด่พระบรมศาสดา พระพุทธองค์ทรงรับแต่พอยังอัตภาพเท่านั้น ข้าวยาคูส่วนที่เหลือก็ทรงให้แจกจ่ายแก่ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป หลังจากนั้น พระเถระ ทูลถามถึงวิบากกรรมของนายกากวฬิยะ พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ว่า อีก ๗ วันนับจากนี้เขาจักได้เป็นเศรษฐีประจำเมือง หลังจากมหาทุคตะกากวฬิยะ และภรรยาได้ถวายทานครั้งนั้นแล้ว ต่างระลึกถึงทานกุศลด้วยจิตที่เบิกบานทุกครั้งไป ยิ่งนึกถึงบุญบ่อยๆ ดวงบุญในตัวก็ยิ่งโตขึ้น สว่างไสวขึ้นไปเรื่อยๆ

วันหนึ่ง พระราชาเสด็จเลียบพระนครทอดพระเนตรเห็นบุรุษนั่งอยู่บนหลาวเพื่อรอการประหารชีวิตอยู่ที่นอกพระนคร บุรุษเห็นพระราชาจึงตะโกนทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ ก่อนที่ข้าพระองค์จะตาย ขอพระองค์ได้โปรดส่งอาหารที่พระองค์เสวยมาให้ข้าพระองค์ด้วยเถิดพระเจ้าข้า” ด้วยความสงสารนักโทษคนนั้น พระราชาจึงรับปากว่าจะส่งอาหารมาให้ เพื่อให้เขาได้สมปรารถนาก่อนถูกประหารชีวิต

ตกเย็น พวกเจ้าพนักงานเตรียมพระกระยาหารมาให้พระราชาเสวย พระองค์ทรงระลึกถึงสัญญาที่ให้ไว้กับนักโทษประหาร จึงตรัสว่า “พวกเจ้าจงหาคนที่สามารถนำอาหารนี้ไปส่งให้นักโทษที่อยู่นอกเมืองคนนั้น” เนื่องจากนอกพระนครเต็มไปด้วยอันตราย โดยเฉพาะอมนุษย์ และยักษ์กินคน ถึงแม้ราชบุรุษจะว่าจ้างด้วยทรัพย์ถึงพันหนึ่ง ก็ไม่มีใครกล้าเอาชีวิตไปเสี่ยง เพื่อแลกกับเงินหนึ่งพันกหาปณะ ฝ่ายภรรยาของนายกากวฬิยะอยากได้เงินมาจุนเจือครอบครัว จึงปลอมตัวเป็นชายหนุ่ม รับอาสานำอาหารไปให้นักโทษคนนั้น โดยไม่หวั่นไหวต่อภยันตรายใดๆ ทั้งสิ้น

ขณะที่นางจะเดินเข้าไปสู่แดนประหารนั้น ยักษ์ชื่อทีฆตาละ ได้ตวาดขู่นางว่า “หยุด เจ้าตกเป็นอาหารของเราแล้ว” นางตอบสวนไปด้วยความองอาจว่า “เราไม่ได้เป็นอาหารของท่าน เราเป็นราชทูตนำอาหารไปให้นักโทษ” ยักษ์เห็นว่าบุรุษผู้นี้เป็นผู้มีใจงดงาม จึงกล่าวว่า “เราจะไม่กินเจ้าก็ได้ หากเจ้าสามารถนำข่าวไปบอกสุมนเทพว่า นางกาฬีธิดาของเจ้าสุมนเทพ ผู้เป็นภริยาของทีฆตาลยักษ์คลอดบุตรเป็นชายแล้ว เราถูกสุมนเทพทำโทษ ไม่ให้เข้าสู่สมาคมยักษ์ หากเจ้าทำให้สุมนเทพยกโทษให้เราได้ เจ้าจะรอดตาย และเราจะยกขุมทรัพย์ ๗ ขุมนี้ให้แก่เจ้า”

เมื่อเห็นว่าไม่มีทางหลีกเลี่ยง นางจำต้องรับปากโดยพยายามนึกถึงบุญที่ได้ทำไว้กับพระมหากัสสปเถระ และศีลที่รักษาไว้ดีแล้ว ให้มาช่วยปกป้องคุ้มครอง ให้แคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งหลาย เมื่อนางไปถึงก็ได้ป่าวร้องว่า “นางกาฬีธิดาของเจ้าสุมนเทพ คลอดบุตรเป็นชายแล้ว”

สุมนเทพนั่งอยู่ในสมาคมยักษ์ ได้ยินข่าวดีนี้ รู้สึกดีใจมาก จึงสั่งให้ยักษ์บริวารเรียกนางเข้ามา เมื่อได้สนทนากับนางแล้ว ก็เกิดความประทับใจ นึกเลื่อมใสในความองอาจของนาง จึงกล่าวว่า “ขุมทรัพย์ในปริมณฑลที่ร่มเงาของต้นไม้นี้แผ่ไปถึง เรายกให้เจ้าทั้งหมด” นางได้ตรวจดูขุมทรัพย์ทั้ง ๗ ขุมด้วยความดีใจยิ่งนัก

หลังจากนางส่งอาหารให้นักโทษประหารแล้ว ก็กลับเข้าไปในพระนคร กราบทูลเรื่องราวที่เกิดขึ้นถวายพระราชา พอรุ่งเช้าพระราชาให้ขนทรัพย์ทั้งหมดเข้ามาในพระนคร ทรงเห็นว่าทรัพย์ทั้งหมดนี้เป็นของนางกับสามี จึงตั้งสามีของนางให้เป็นมหาเศรษฐีประจำพระนครตั้งแต่นั้นมา

จะเห็นได้ว่า บุญเพียงน้อยนิดอย่าคิดว่าไม่สำคัญ และบาปแม้น้อยนิด จงอย่าคิดทำ เพราะจะกลายเป็นวิบากติดตัวเราไปข้ามชาติ คอยขัดขวางให้เราเสียเวลาในการสร้างความดี ส่วนบุญแม้นิดหน่อยให้ทำเถิด ทำบ่อยๆ ยิ่งถ้าทำมากๆ และทำด้วยจิตที่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ก็จะยิ่งมีอานุภาพในการดึงดูดทรัพย์สมบัติทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ ให้มาใช้สร้างบารมีเหมือนกับท่านกากวฬิยเศรษฐี ที่เมื่อทำบุญแล้ว บุญใหม่ก็ไปเชื่อมกับบุญเก่า ไปดึงดูดทรัพย์มา ทรัพย์สมบัติก็บังเกิดขึ้นอย่างเป็นอัศจรรย์ สมบัติเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะอยู่กับเราได้ตลอดก็ต่อเมื่อเรามีบุญมากเท่านั้น จึงจะครอบครองได้ ถ้าหมดบุญก็หมดสิทธิ์ สมบัติจะเปลี่ยนมือทันที ดังนั้น ให้หมั่นสั่งสมบุญให้มากๆ ทั้งทาน ศีล และภาวนา

เล่าเรื่องจาก ชมรมพุทธศาสน์ ม.อ. โครงการตักบาตรพระ ถวายเป็นสังฆทาน

ตัวอย่าง ตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 30 รูป ริมฝั่งแม่น้ำโขง ภายใต้กิจกรรม “นุ่งผ้าหนองคาย ใส่บาตรริมโขง”

ตัวอย่าง พุทธศาสนิกชนจังหวัดเลย ร่วมทำบุญ โครงการ “ทำบุญตักบาตรทุกเช้าวันพุธฯ”

https://youtu.be/jvgTfCr4GZc

#ตักบาตร, #การตักบาตร, #วิธีตักบาตร, #วิธีการตักบาตร, #ใส่บาตร, #วิธีใส่บาตร, #วัตถุประสงค์การตักบาตร, #ที่มาการตักบาตร, #คำอธิษฐานก่อนและหลังใส่บาตร, #คำกรวดน้ำ, #ชมรมพุทธ, #บัณฑิตชมรมพุทธ, #ศูนย์กัลยาณมิตร