ชมรมพุทธศาสน์ ม.อ. สูตรสำเร็จ เคล็ดลับการทำกิจกรรม

เมื่อเปิดภาคเรียนมหาวิทยาลัยปี 1 พ. ศ. 2532 ด้วยความสนใจทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยคู่กับการเรียนการศึกษาในมุมมองที่ว่า การเรียนจบมหาวิทยาลัยจะทำให้ได้วิชาชีพ ส่วนการทำกิจกรรม ชมรม สโมสรคณะ และองค์การนักศึกษา จะทำให้เราได้เพื่อนมากขึ้น และยังเป็นการช่วยเหลือกิจกรรมส่วนรวม ข้าพเจ้าจึงได้เข้าร่วม ทำกิจกรรม ชมรมพุทธศาสน์ ม.อ. โดยมีพี่นราธิป เรืองทอง ประธาน ชมรมพุทธศาสน์ มอ. ในปีนั้นเป็นผู้เชิญชวน พี่นราธิปเรียนอยู่คณะวิศวกรรมศาสตร์โยธารู้จักกันตอนบวชภาคฤดูร้อน หลังจากที่สอบ Ent ตรงได้คณะเภสัชมอ. ทำให้มีเวลาว่างช่วงปิดเทอมจึงได้มาร่วมโครงการบวช เพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่
โครงการสวดมนต์ทำวัตร & นั่งสมาธิเช้า-เย็น
กิจกรรมหลักอันหนึ่งของ ชมรมพุทธศาสน์ มอ. ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ คือการ #สวดมนต์ทำวัตร #นั่งสมาธิเช้าเย็น โดยมาทราบตอนหลังว่า การ #สวดมนต์ #นั่งสมาธิ ทุกวัน นอกจากได้บุญจากการทำเจริญภาวนาแล้ว ยังเป็นหลักการทำงานเป็นทีมที่สำคัญ อันดับแรกคือ การได้มาประชุมพร้อมกันบ่อยๆ ลึกซึ้งไปกว่านั้นที่ครูบาอาจารย์ทางธรรม ได้สอนสั่งไว้แล้ว พี่นราธิปมาบอกต่อคือ ถ้าน้องจะสร้าง ชมรมพุทธ ให้เข้มแข็ง ให้น้องมา สวดมนต์ อาราธนาศีล ทุกวัน แม้มีเพียงคนเดียว ตอนแรกก็ยังไม่เข้าใจ และยังไม่เห็นผล แต่ก็ทำตามที่รุ่นพี่แนะนำ ทำทุกวันไม่ขาด แม้ช่วงสอบที่ต้องอ่านหนังสืออย่างหนักก็ตาม ยุคนั้นเริ่มบุกเบิก #กิจกรรมชมรมพุทธ โครงการใหม่ๆ และหลายโครงการ ขณะนั้นมีแกนนำหลักๆ มา สวดมนต์ นั่งสมาธิ เช้าเย็น ไม่กี่คนที่ห้อง ชมรมพุทธศาสน์ ม.อ. ห้องM305 ตึกคณะวิทยาศาสตร์ จากเพียงไม่กี่คน ก็เริ่มเชิญชวนทำหน้าที่กัลยาณมิตร เล่าธรรมะบอกอานิสงส์การสวดมนต์นั่งสมาธิ ทำจิตใจให้ผ่องใส เวลาผ่านไป 1 ปี มีนักศึกษามาร่วม สวดมนต์ นั่งสมาธิ จนล้นห้องชมรม ไปถึงบันไดทางขึ้น พร้อมกับกิจกรรมของ #ชมรมพุทธศาสน์มอ. มีความก้าวหน้าเจริญเติบโตอย่างมาก ทั้งในมหาวิทยาลัย และการร่วมมือทำกิจกรรมกับสาธุชนนอกมหาวิทยาลัย ที่สนใจการปฏิบัติธรรม และให้การ สนับสนุนกิจกรรม ชมรมพุทธศาสน์ ม.อ. เมื่อเวลาผ่านไปถึงรู้ว่า “เคล็ดลับสูตรสำเร็จ” แก่นการสร้างชมรมอยู่ตรงจุดนี้เอง
#กิจกรรมชมรมพุทธศาสน์ มอ.ในยุคนั้น
1 โครงการสวดมนต์ทำวัตรนั่งสมาธิเช้า-เย็น
2 โครงการตักบาตรพระทุกสัปดาห์ หน้าหอสมุด
3 โครงการผลิตสื่อธรรมะธรรมสาร
4 โครงการปล่อยปลา
5 กิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
6 โครงการอบรมค่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำตุลาคม
7 โครงการทัศนศึกษาสวนโมกข์-วัดพระธรรมกาย
8 โครงการนิทรรศการ”เดินไปสู่ความสุข”
9 โครงการบรรพชาอุปสมบทหมู่ภาคฤดูร้อน
ข้าพเจ้ามาทราบจากพระผู้รู้ผู้ปฏิบัติ (ซึ่งตอนนี้ท่านบวชมาได้กว่า 50 พรรษา) ว่าเป็น”หลักวิชชา” ในการเผยแผ่ #พระพุทธศาสนา จึงได้ถือเป็นหลักปฏิบัติมาตลอดกับทีมงาน ที่มีเป้าหมายเช่นเดียวกัน จาก #ชมรมพุทธศาสน์ ม.อ. สู่กิจกรรม #สมาคมบัณฑิตรัตน์ เมื่อจบการศึกษา ก็ยังคงใช้หลักวิชชานี้ ในการทำโครงการต่างๆ
โครงการแรกของ #สมาคมบัณฑิตรัตน์ ที่ถูกจดจำเป็นประวัติศาสตร์การสร้างบารมีไปตลอดชีวิต คือการช่วยขยาย #โครงการตอบปัญหาธรรมะ ทางก้าวหน้า ให้กับเยาวชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปีพศ 2539 จากจำนวนนักเรียนนักศึกษา ที่สอบปีละไม่เกิน 500 คน เป็นยอดสมัครสอบกว่า 20,000 คนภายในปีแรกที่ทำโครงการ ก็ใช้หลักปฏิบัติเดียวกันคือ รวมทีมจากนักศึกษา ชมรมพุทธศาสน์ ม.อ. และ บัณฑิตชมรมพุทธ สวดมนต์นั่งสมาธิร่วมกัน โดยเข้าคอร์สต่อเนื่อง 3 วัน จากนั้นเมื่อใจใสใจสบาย เป็นสมาธิดีแล้ว ก็ระดมสมองคิดหาวิธีการสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จ และทุกวันก่อนออกไปทำหน้าที่ ก็จะสวดมนต์ทำวัตร นั่งสมาธิ จบด้วยการ #แผ่เมตตา นึกถึงบุญ ส่งไปยังครูอาจารย์ นักเรียนนักศึกษา สถานศึกษาที่ทีมงานจะไปเชิญชวนเข้าโครงการ
ต่อเนื่องมาถึงกิจกรรมที่สำคัญ พัฒนาไปสู่สหพันธ์รวมใจไทยทั้งชาติ (รวมหลายสมาคมมาขยายกิจกรรมดีๆร่วมกัน) คือ #โครงการตักบาตรพระ ระดับ 500 รูปขึ้นไป ณ ถนนใจกลางเมือง แรงบันดาลใจการทำโครงการนี้เริ่มต้นจาก อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ปีพ.ศ 2543 เมื่อน้ำลดสู่ภาวะปกติ สภาพเมืองหลังจากน้ำท่วม สัมผัสได้ว่าประชาชนมีความซึมเศร้าจากการประสบภัย ทีมงาน สมาคมบัณฑิตรัตน์ ร่วมกับ #ศูนย์กัลยาณมิตรรัตนอุทิศ (มีคุณมนธิรา โซ่ธรรม และคุณกายชิน เป็นแกนนำหลัก) ได้ร่วมจัด โครงการตักบาตรพระ 500 รูปถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อนำข้าวสารอาหารแห้ง ปัจจัยไทยธรรมช่วยเหลือพระภิกษุ ชาวพุทธ ชาวบ้านผู้ประสบภัย แล้วจัดต่อเนื่องทุกปีในเดือนสิงหาคมช่วงเข้าพรรษา พัฒนาจาก โครงการตักบาตรพระ 500 รูปสู่ 1000 รูป และ10,000รูป บูรณาการให้เกิดผลดี ต่อนครหาดใหญ่ทั้งทางเศรษฐกิจ และจิตใจ ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยว ของนักแสวงบุญชาวมาเลเซียสิงคโปร์และอินโดนีเซีย จองที่พักโรงแรมในนครหาดใหญ่เต็มล่วงหน้าทุกปี ในช่วงวันตักบาตรพุทธประเพณีประจำปี และยังได้นำข้าวสารอาหารแห้ง ปัจจัยไทยธรรมไปช่วยเหลือ คณะสงฆ์ชาวพุทธใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อประสบปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ เป็นประจำทุกปี เช่นเดียวกันการทำโครงการตักบาตรที่นครหาดใหญ่ มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ไม่อาจจะลืมได้คือ สท.มัรริกา เจริญพานิช ผู้ที่ช่วยประสานงานภาครัฐทั้งเทศบาล จังหวัดและทหารตำรวจ ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยปฏิภาณไหวพริบที่ยอดเยี่ยม
มีเรื่องเล่าหลักวิชชาอันเดียวกัน เกี่ยวกับการ สวดมนต์ นั่งสมาธิเช้า-เย็น ที่ยึดถือมาต่อเนื่องใน โครงการตักบาตรใหญ่ ใจกลางนครหาดใหญ่ ซึ่งจัดขึ้นช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงฤดูฝน อย่างที่ทุกท่านทราบ สภาพอากาศทางภาคใต้นั้น มีฝนตกมากจนพูด กันติดปากว่า 1 ปีมี 12 เดือนทางภาคใต้นั้น ฝนแปดแดดสี่ แต่นับเป็นเรื่องอัศจรรย์ การจัดตักบาตรที่นครหาดใหญ่เกือบ 20 ปีด้วยหลักวิชชา
“การสวดมนต์ นั่งสมาธิ แผ่เมตตา และ อธิษฐานจิต ทุกวัน” ทำให้ไม่เคยมีฝนตกที่หาดใหญ่ในวันงาน มีแต่ฝนตกก่อนวันงาน และพลังงาน ในบางปีมีสาธุชนมาเล่าให้ฟังว่า เดินทางจากจังหวัดพัทลุงเข้าอำเภอหาดใหญ่ มาร่วมตักบาตร ก่อนถึงหาดใหญ่ฝนตกหนัก แต่พอเข้าเขตนครหาดใหญ่ ไม่มีฝนตกแม้เพียงนิดเดียว

จาก ชมรมพุทธศาสน์ ม.อ. สู่ สมาคมบัณฑิตรัตน์ ร่วมหลายสมาคมเป็น #สหพันธ์รวมใจไทยทั้งชาติ ก้าวเข้าสู่ #สมาพันธ์บัณฑิตพุทธโลก ในยุคที่โลกถูก Disrup ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารบนโลกออนไลน์ มีผลในการเปลี่ยนแปลงของโลก ในหลายๆ ด้านหลายๆ วงการ เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องปรับวิธีการทำงาน การเผยแผ่ธรรมะ ที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับทุกสมัย จนก่อเกิดได้รับสถาปนาชื่ออันเป็นมงคลจาก หลวงพ่อพระมหาเถระ ผู้รักการปฏิบัติธรรม ให้นามว่า “ สมาพันธ์บัณฑิตพุทธโลก ” ถึงแม้เทคโนโลยีเปลี่ยน แต่หลักวิชชาเป็นสัจธรรมไม่เปลี่ยนแปลง คือ #การสวดมนต์นั่งสมาธิ #แผ่เมตตา #อธิษฐานจิต เป็นก้าวแรก และทุกๆ ก้าวที่สำคัญ ก่อให้เกิดความสำเร็จ ทุกภารกิจเกินเป้าหมาย ทั้งทางโลก และทางธรรมครับ
เรียนรู้การทำสมาธิเบื้องต้น
เรียนรู้การทำสมาธิขั้นสูง
นายสมโชค พันธุ์วิริยรัตน์
ประธานชมรมพุทธศาสน์ มอ. ปีการศึกษา 2534 และ 2535 นายกสมาคมบัณฑิตรัตน์
ผู้ถ่ายทอดประสบการณ์
#บันทึกประวัติศาสตร์การสร้างความดี
#ชมรมพุทธศาสน์ม.อ. #สมาคมบัณฑิตรัตน์ #สหพันธ์รวมใจไทยทั้งชาติ
#ทบทวนบุญ #ปลื้มในบุญ
#กิจกรรมชมรมพุทธศาสน์
#เก็บเรื่องราวดีๆให้คนรุ่นหลัง
#Onlineไร้พรมแดน